ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ผอ.ศูนย์วิจัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและสารอันตราย มข.ระบุการนำสารเคมีอันตราย เพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอนนักศึกษาอาจเกิดอุบัติเหตุไม่คาดคิด เพราะมีทั้งเชื้อโรค-สารกัมมันตรังสี ฯลฯสถาบันศึกษาจำเป็นต้องมีระบบจัดการความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ล่าสุด มข. มน.และ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีนำร่องระบบสร้างเกราะป้องกันมาใช้แล้ว
รศ.ดร.วันเพ็ญ วิโรจนกูฏ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและสารอันตราย มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ในปัจจุบันการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาไทยนั้น ได้มีการนำสารเคมีอันตราย สารกัมมันตรังสี ทั้งที่สามารถแตกตัว และไม่แตกตัวเป็นไอออน สารเชื้อโรค อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ
ทั้งเชิงกล ไฟฟ้า และพลังงาน มาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อประโยชน์ต่อนักศึกษาในการ วิเคราะห์ ทดลอง หรือทดสอบสารต่างๆ สารเคมีที่นำมาศึกษานั้น อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด หรือ เกิดเพลิงไหม้ได้
การดำเนินงานระบบการจัดการความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมสำหรับสถาบันการศึกษา มิใช่เพียงเพื่อคุ้มครองทรัพยากร แต่ยังสามารถประเมินเป็นผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ได้อีกด้วย เช่น การไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสูญเสียบุคลากรอันเนื่องจากอุบัติเหตุและอุบัติภัยจากสารเคมี การลดปริมาณสารเคมีอันตราย/ของเสีย
ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการสำรวจ บำรุงรักษาและการบำบัด/กำจัด ป้องกันมลพิษสิ่งแวดล้อม การจัดทำและดำเนินการด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมด้วยงบประมาณที่เหมาะสม ซึ่งจะเห็นผลประโยชน์ด้านเศรษฐศาสตร์ได้ในระยะเวลาอันสั้น
อีกทั้งจะเป็นตัวอย่างที่ดี และการประชาสัมพันธ์ของสถาบันการศึกษาอีกด้วย ดังนั้นกลุ่มมหาวิทยาลัย 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งได้เริ่มนำ “ระบบการจัดการความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม” มาปฏิบัติใช้แล้ว และผู้เชี่ยวชาญ คือ ศ.ชุลี โกรฟ ผู้รับผิดชอบหลักสูตร จึงมีความเห็นร่วมกันที่จะรวบรวมข้อมูล “ระบบการจัดการความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม” ในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ
โดยการจัดประชุมวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำองค์ความรู้ที่ได้จากการประชุม มาพัฒนาและปรับปรุงกลไกต่างๆ ให้แก่ สถาบันอุดมศึกษาที่มีความประสงค์จะจัดตั้งและดำเนินการ “ระบบการจัดการความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม” ต่อไป