xs
xsm
sm
md
lg

NGO บุกพิสูจน์ “อ่างโปร่งขุนอินทร์-พิด’โลก” สร้าง 8 เดือนอ่างแตก-เหตุทุจริตบาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - เอ็นจีโอ เหนือล่างเปิดแผล อ่างเก็บน้ำโปร่งขุนอินทร์ เชื่อ นักการเมืองคอร์รัปชัน กินงบกว่าครึ่ง จนอ่างแตก ยืนยันแนวคิดสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กดีกว่าการสร้างเขื่อนใหญ่ แต่ปัญหาคือ ท้องถิ่นไร้การบริหารจัดการ

วันนี้ (5 ก.ค.) เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ และเครือข่ายทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ภาคเหนือตอนล่าง เดินทางบุกพิสูจน์ข้อเท็จจริง อ่างเก็บน้ำโปร่งขุนอินทร์ หมู่ 4 บ้านเขาน้อย ต.แก่งโสภา อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ที่พังเมื่อวันที่ 31 พ.ค.54 หลังจากสร้างเสร็จได้แค่ 8 เดือน ปรากฏเป็นข่าวในสื่อมวลชนหลายแขนง เหตุเพิ่งเก็บน้ำฝนครั้งแรกจากเทือกเขากระยาง ส่งผลให้ประชาชน 2 หมู่บ้านได้รับผลกระทบ กระทั่งวันนี้ ยังไม่มีหน่วยงานรัฐใดเข้ามาแก้ไข ปล่อยทิ้งร้างในช่วงฤดูฝน แม้กระทั่ง คันดินเหนืออ่างเก็บน้ำ ถูกน้ำฝนชะ จนเป็นรู

กลุ่มเอ็นจีโอได้สอบถามชาวบ้าน ทราบว่า หน่วยทหารพัฒนา สังกัดกองทัพไทย ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล ให้มาก่อสร้างจำนวน 60 ล้านบาท แต่ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ไม่มีมาตรฐาน ใช้ดินลูกรังก่อสร้างคันดิน ผิดกับโครงการมาตรฐานที่ใช้ดินเหนียวทำคันดินกักเก็บนำ และด้วยความจุน้ำ 500,000 ลบ.ม. ทำให้อ่างถูกแรงดันน้ำจำนวนมหาศาลจนแตกเป็นรูป

กลุ่มเอ็นจีโอ ระบุว่า การทำอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก สามารถบรรเทาอุทักภัยดีกว่า เขื่อนหลายเท่า แต่พบว่า ปัญหาส่วนใหญ่ คือ ขาดการบริหารจัดการ มีงบประมาณลงมา แต่ไม่มีแบบมาตรฐานในการสร้างอ่างเก็บน้ำ ทำให้งบประมาณลงต่างจังหวัดล้มเหลว

ซึ่งที่จริงแล้ว รัฐบาลจะต้องดูความพร้อมของท้องถิ่นก่อนว่า จะดูแล บริหารจัดการอ่างเก็บน้ำได้หรือไม่ เพราะทำไปหลายแห่งก็ร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และที่สำคัญ งบ 100 ล้านบาทกว่าจะลงมาถึงมือผู้รับเหมาก่อสร้างเหลือแค่ 60 เปอร์เซ็นต์ เพราะต้องจ่ายค่าหัวคิวให้ส่วนกลางประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ และท้องที่ 15 เปอร์เซ็นต์ สุดท้ายแล้ว ผู้รับเหมาก็ต้องมีกำไรอย่างน้อย 15 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ค่างานหรืออ่างเก็บน้ำเพื่อประชาชน มีมูลค่าแท้จริงแค่ 45 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

นายณัฐวัฒิ อุปปะ เครือข่ายทรัทพยากร ดิน น้ำ ป่า ภาคเหนือตอนล่าง กล่าวว่า แนวคิดการพัฒนาลุ่มน้ำขนาดเล็ก ดีกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ แต่ข้อเท็จริงแล้ว รัฐบาลควรทราบว่า งบสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กมีการทุรจิตกันมาก เหลือสิ่งก่อสร้างเพียงครึ่งเดียวของงบประมาณ ประกอบกับความพร้อมของท้องถิ่น ไม่ได้สนใจ ทำให้ อ่างเก็บน้ำที่สร้างมา ไม่มีการบริหารจัดการ หรือ ดูแลให้สามารถใช้งานได้ กรณีอ่างเก็บน้ำโปร่งขุนอินทร์ ถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน

นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานโครงการประวัติศาสตร์นิเวศน์วัฒนธรรมเพื่อการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นลุ่มน้ำภาคเหนือหรือเครือข่ายลุ่มน้ำฯภาคเหนือ ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำโขง และลุ่มน้ำสาละวิน กล่าวว่า อนาคตควรมีหน่วยงานนโยบายจัดการลุ่มน้ำ เก็บน้ำ การบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ ปลายน้ำ ดีกว่าจัดการน้ำขนาดใหญ่หรือเขื่อน ทำให้ต้องมาสำรวจแผนจัดการลุ่มน้ำ 25 ลุ่มน้ำ

กำลังโหลดความคิดเห็น