เพชรบุรี - นักการเมืองระดับชาติ และนักการเมืองท้องถิ่น จ.ประจวบฯ ร่วมกับนายทุนบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนเพชรบุรีให้เป็นพื้นที่ของประจวบฯ โดยออกโฉนดถือครองที่หัวหิน คณะอนุกรรมาธิการป่าไม้และสัตว์ป่าวุฒิสภาลงพื้นที่ตรวจสอบการทุจริตออกเอกสารสิทธิหลังมีชาวบ้านร้องเรียนพบพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพชรบุรี แต่มีการออกโฉนดให้เป็นพื้นที่ของหัวหิน ประจวบคีรีขันธ์
วันนี้ (30 มิ.ย.) ที่องค์การบริหารส่วนตำบลสามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช วุฒิสภา พร้อมคณะ และเจ้าหน้าเกี่ยวข้องทั้ง จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วยนายวรพจน์ ริงสิมา รองอธิบดีกรมที่ดิน นายนิรวัชช์ ปุณณกันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายธันว์ ออสุวรรณ ส.ว.ประจวบคีรีขันธ์ นายปราโมทย์ สำเภาเงิน นายอำเภอชะอำ จ.เพชรบุรี นายสมชาย บำรุงทรัพย์ นายอำเภอหัวหิน จ.ประจสบคีรีขันธ์ นายบุญเกื้อ เจี้ยมดี ผู้ประสานงานสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 (ราชบุรี) นายจิระ พงษ์ไพบูลย์ นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน เจ้าพนักงานที่ดินสาขาชะอำ และเจ้าพนักงานที่ดินสาขาหัวหิน รวมถึงเจ้าหน้าที่จากหย่วยงานส่วนที่เกี่ยวข้องได้เข้าร่วมประชุมและชี้แจงข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับการบุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เนื่องจากได้มีราษฎรร้องเรียนเข้ามาว่า มีการออกเอกสารสิทธิที่ดินทับเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ หมายเลข 87 ซึ่งอยู่พื้นที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี โดยเจ้าพนักงานที่ดินสาขาหัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
การชี้แจงเป็นไปอย่างเข้มข้นที่ทางกรมที่ดินได้นำหลักฐานซึ่งเป็นแผนที่ชี้เขตมาแสดง ด้านกรมป่าไม้ได้ยืนยันว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และอยู่ในพื้นที่ จ.เพชรบุรี อย่างแน่นอน ส่วนด้านนายธันว์ ออสุวรรณ ส.ว.ประจวบคีรีขันธ์ ยืนยันว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นของ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมกล่าวหา น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และพันธ์พืช วุฒิสภา ว่าจะมาถือยึดพื้นที่ให้เป็นของ จ.เพชรบุรี
ด้าน น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรป่าไม้สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้โต้กลับว่า ไม่รู้ว่า ส.ว.ประจวบฯ มีส่วนหรือมีผลประโยชน์อะไรกับที่ดินผืนดังกล่าวหรือไม่ เนื่องจากเห็นว่า ส.ว.ประจวบฯ พยายามปกป้องที่ดินหวั่นจะถูกยึดกลับคืนเป็นพื้นที่ป่าสงวน อีกทั้งมีการเสริมจากนายจิระ พงษ์ไพบูลย์ นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน ว่าพื้นที่ดังกล่าวมีชาวบ้านเข้าไปอยู่อาศัยมานานกว่า 30 ปีอีกด้วย
จากนั้นคณะได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบและระวางที่ดินพร้อมนำแผนที่ทางปกครองมาดูเปรียบเทียบ อีกทั้งมีการตรวจสอบด้วยจีพีเอส ซึ่งพบว่าที่ดินแปลงดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่ของ จ.เพชรบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากเขตรอยต่อพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 1.20 กิโลเมตรอย่างชัดเจน และได้รับการยืนยันจากผู้แทนกรมป่าไม้ว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าหมายเลข 87 ซึ่งประกาศไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524
แต่เอกสารสิทธิฉบับดังกล่าวเป็นการออกด้วยวิธีการเดินสำรวจนำชี้แนวเขตเมื่อปี พ.ศ. 2540 ซึ่งไม่สามารถออกให้ได้ อีกทั้งยังพบว่า พื้นที่ดังกล่าวไม่มีสภาพของการทำกินเนื่องจากพื้นที่เป็นไหล่เขา แต่มีการนำรั้วลวดหนามไปปักกั้นเป็นแนวเขตในลักษณะบุกรุกครอบครอง และยังพบว่ามีการปักเสาไฟฟ้าที่มีการเดินกระแสไฟเข้าไปด้านในแล้วแต่ไม่พบว่ามีบ้านเรือนประชาชนอยู่ในพื้นที่ ซึ่งขัดต่อคำกล่าวอ้างของนายจิระ พงษ์ไพบูลย์ นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน ที่กล่าวอ้างว่า พื้นที่ดังกล่าวมีประชาชนอาศัยอยู่มานานกว่า 30 ปี แล้ว
น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และพันธ์พืช วุฒิสภา เปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียนกรณีเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินในพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างอ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นเวลานานกว่า 2 ปีแล้ว จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าที่ดินอยู่ในเขตปกครองของจังหวัดเพชรบุรีแต่สำนักที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ออกโฉนดที่ดินให้อีกทั้งยังพบว่าเป็นพื้นที่อยู่ในเขตป่าสงวนแล้วทำไมจึงออกโฉนดที่ดินได้
อีกทั้งยังได้รับการยืนยันจากนายบุญเกื้อ เจี้ยมดี ผู้ประสานงานป่าไม้เขต 10 (ราชบุรี) ว่าเป็นพื้นที่ป่าสงวนหมายเลข 87 อีกทั้งสกรมที่ดินสำนักกฎหมายส่วนกลางที่นำแผนที่มาชี้ให้ดูว่าเป็นรอยต่อของ จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งพบว่า จ.เพชรบุรีมีการประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนถึง 3 ครั้ง อีกทั้งมีการจับพิกัดด้วย จีพีเอส ซึ่งบ่งชี้ชัดว่าเป็นพื้นที่ของ จ.เพชรบุรีอย่างชัดเจน และอยู่ห่างจากเขตรอยต่อ อ.หัวหิน ประมาณ 1.20 กม.
ส่วนที่ทางเทศบาลเมืองหัวหิน กล่าวอ้างว่ามีชาวบ้านอาศัยทำกินอยู่นานกว่า 30 ปีนั้นจากการลงพื้นที่ไม่พบว่ามีร่องรอยของการทำกิน แต่มีการรุกจับจองหวงสิทธิครอบครองโดยไม่มีชาวบ้านอาศัยตามที่เทศบาลหัวหินกล่าวอ้างแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้เรื่องของการออกโฉนดทับพื้นที่ป่าสงวนต้องให้ทางกรมป่าไม้ดำเนินการในการเพื่อเพิกถอนโฉนดและเอาพื้นที่ป่าสงวนกลับคืน
โดยข้อยุติของคณะอนุกรรมาธิการ พบว่า หากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ของ ต.สามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เอกสารสิทธิดังกล่าวถือว่าออกโดยเจ้าพนักงานที่ไม่มีอำนาจ เนื่องอยู่นอกพื้นที่รับผิดชอบต้องเพิกถอน และในกรณีเป็นการออกเอกสารสิทธิทับป่าสงวนแห่งชาติก็ให้ทางกรมป่าไม้ยื่นเรื่องเพื่อเพิกถอนเอกสารสิทธิดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดิน เนื่องจากเป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้ทำการตรวจสอบพื้นที่บริเวณดังกล่าวโดยรอบเนื่องจากมีการออกในลักษณะเดียวกันจำนวนมาก
อีกทั้งมีข้อมูลว่าพื้นที่ดังกล่าวมีนักเมืองท้องถิ่นระดับชาติและในท้องถิ่นที่ร่วมมือกับทุนนอกพื้นที่เข้ามาบุกรุกครอบครองเพื่อหวังประโยชน์ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เจริญ อยู่ใกล้รีสอร์ตและมหาวิทยาลัยสแตมป์ฟอร์ดอีกด้วย