xs
xsm
sm
md
lg

โคราชเร่งกำจัดเพลี้ยแป้งมัน ระบาดไม่หยุดพุ่ง 6.5 แสนไร่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าฯนครราชสีมา เป็นประธานเปิดงาน ชาวโคราชรวมใจ ขจัดภัยเพลี้ยแป้ง  ล่าสุดระบาดในไร่มันไม่หยุดพุ่งกว่า 6.5 แสนไร่ จากพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด 1.7 ล้านไร่ วันนี้ ( 14 มิ.ย.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โคราชแหล่งปลูกมันฯ แห่งใหญ่สุดของไทย เร่งกำจัดเพลี้ยแป้ง ล่าสุด ระบาดในไร่มันไม่หยุดพุ่งกว่า 6.5 แสนไร่ จากพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด 1.7 ล้านไร่ ผู้ว่าฯ เผย ใช้ 5 มาตรการควบคุม ส่งเสริมการตั้งศูนย์เพาะเลี้ยงแตนเบียน-แมลงช้างปีกใส เพื่อปล่อยกินเพลียแป้งให้สิ้นซาก ควบคุมการระบาดให้ได้ใน 3 เดือน พร้อมเร่งให้ความรู้การปลูกมันปลอดเพลี้ยแก่เกษตรกร

วันนี้ (14 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านหนองโสมง ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดงาน “ชาวโคราชรวมใจ ขจัดภัยเพลี้ยแป้ง” จัดโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังจัดขึ้น

นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางจังหวัดได้กำหนดมาตรการควบคุมเพลี้ยแป้งไว้ 5 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการเฝ้าระวัง มาตรการแจ้งเตือนภัย มาตรการควบคุม มาตรการช่วยเหลือเยียวยา และมาตรการติดตามประเมินผล ซึ่งต้องดำเนินการพร้อมกันทั่วทั้งจังหวัด โดยอาศัย กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำในชุมชน นอกจากนี้ จะให้เกษตรอำเภอเข้าไปสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาเพาะเลี้ยงแตนเบียน และแมลงช้างปีกใส ซึ่งเป็นแมลงที่ใช้สำหรับกำจัดเพลี้ยแป้งที่ได้ผลที่สุด โดยจะจัดตั้งศูนย์เพาะเลี้ยงแตนเบียน และแมลงช้างปีกใส ในทุกพื้นที่โดยเร็ว ซึ่งมั่นใจว่าหากทุกพื้นที่ดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งได้ภายใน 3 เดือนนับจากนี้

อย่างไรก็ตาม จากการรายงานของสำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา พบว่า ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมามีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั้งสิ้น 1.7 ล้านไร่ โดยมีรายงานการระบาดของเพลี้ยแป้งแล้วกว่า 650,000 ไร่

ด้าน นายสวัสดิ์ บึงไกร เกษตรจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า สาเหตุสำคัญ ที่ทำให้เพลี้ยแป้งระบาดมากเกิดจากการนำท่อนพันธุ์จากแหล่งระบาดที่มีเพลี้ยแป้งเกาะติดอยู่ไปปลูก ทำให้เพลี้ยแป้งขยายพื้นที่ระบาดไปเรื่อยๆ และโดยทั่วไปเกษตรกรไม่มีการตรวจแปลงมันสำปะหลัง ทำให้ไม่ทราบเมื่อเพลี้ยแป้งเริ่มทำลายมันสำปะหลัง จึงไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ทันท่วงที

ฉะนั้น การให้ความรู้แก่เกษตรกรจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำจัดเพลียแป้งให้หมดสิ้นไปได้ ซึ่งทางเกษตรจังหวัด ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้ความรู้เกษตรกรผู้ปลูกมัน ทั้งการใช้สารเคมีแช่ท่อนพันธุ์ก่อนปลูกมันสำปะหลัง, การสาธิตการฉีดพ่นสารเคมีอย่างถูกวิธี, การสาธิตเด็ดยอด ตัดต้น ฉีดพ่นสารกำจัดเพลี้ยแป้ง อายุ 4-7 เดือน, การตัดยอด ตัดต้น เก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง อายุ 8 เดือนขึ้นไป และแนะนำการบริหารจัดการของศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนที่มีการจัดตั้งขึ้นครบทุกชุมชนในพื้นที่ ปลูกมันสำปะหลังของจังหวัดนครราชสีมาแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น