อุบลราชธานี - หาเสียงยกแรก “ศุภชัย ศรีหล้า” จาก ปชป.ชูการเป็นนักวิชาการดันนโยบายประกันราคาสินค้าเกษตร สู้การรับจำนำที่สร้างปัญหาให้กับฐานการเงินของประเทศ เพื่อมีเงินเหลือจ่ายช่วยเหลือคนชรา คนพิการ เด็กเรียนฟรี และค่าตอบแทน อสม. เน้นชี้แจงผลงานเด่นที่ทำในสภา มากกว่าส่งน้ำดื่ม น้ำแข็ง ช่วยงานบุญ งานบวช งานแต่ง
ดร.ศุภชัย ศรีหล้า ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เขต 2 จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงนโยบายใช้หาเสียง เน้นทำความเข้าใจเรื่องการประกันราคาสินค้าเกษตร ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้คิดและนำมาใช้ช่วงเป็นรัฐบาล
ทั้งนี้ ได้ให้ความเห็นว่า หากเลือกพรรคประชาธิปัตย์จะได้รับการสานต่อเรื่องการประกันราคาสินค้าเกษตรแทนการรับจำนำ เพราะการรับจำนำมีจุดอ่อน ทำให้เกิดการทุจริต เกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่ และการรับจำนำยังเป็นตัวสร้างปัญหาแก่ระบบการเงินการคลังของประเทศ
การจำนำสินค้าเกษตร รัฐต้องใช้เงินจำนวนมากกว่าการรับประกันราคาถึง 5 เท่า ทำให้เกิดปัญหาด้านการเงินของประเทศหายไปจากตลาด จากการนำไปอุ้มสินค้าเกษตร ส่งผลต่อการใช้จ่ายเงินตามโครงการเบี้ยยังชีพ ที่รัฐจ่ายช่วยเหลือคนชรา และเงินช่วยเหลือผู้พิการ รวมทั้งเงินอุดหนุนให้บุตรหลานเรียนฟรี 15 ปี และเงินค่าตอบแทน อสม. เพราะรัฐจะไม่มีเงินพอจ่ายให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้ได้
ดร.ศุภชัยกล่าวถึงการอุปมาอุปมัยถึงนโยบายนี้ว่า เหมือนมีน้ำอยู่ 1 แก้ว น้ำแก้วหนึ่งขาดอยู่เพียงส่วนเดียวก็เต็มแก้ว จึงให้ประกันราคาในส่วนที่ขาดอยู่ 1 ส่วน เพื่อให้มีน้ำเต็มแก้ว แต่การรับจำนำ รัฐต้องเทน้ำในเหยือกลงไปในแก้วจนเต็ม ทำให้ต้องใช้น้ำจำนวนมาก จึงส่งผลกระทบต่อการเทน้ำไปให้แก้วอื่นต่อไป
อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ที่เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งคราวนี้ ยังกล่าวถึงการเข้าถึงเรื่องการเมืองของประชาชนในพื้นที่ว่า ขณะนี้ประชาชนมีความเข้าใจหน้าที่ของผู้ที่เข้าไปทำงานในสภามากกว่าอดีต ไม่เป็นเพียงผู้ส่งน้ำดื่ม น้ำแข็ง ไปช่วยในงานบวช งานแต่ง งานศพ แต่คนเป็น ส.ส.ต้องสะท้อนปัญหาทั้งระบบ ทั้งเรื่องสิ่งสาธารณูปโภคสาธารณูปการที่จำเป็นในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่
ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หลังการประชุมสภาเสร็จสิ้นลง ตนต้องนำผลการประชุมมาแจ้งให้ชาวบ้านที่ลงคะแนนเลือกเข้าไปทราบว่า ในการประชุมสภาที่ผ่านมา ตนได้ทำอะไรให้กับชาวบ้านไปบ้าง จึงเป็นส่วนสนับสนุนส่งเสริมให้ชาวบ้านสนใจการเมืองและการทำหน้าที่ของ ส.ส.มากกว่าในอดีต
ส่วนผลงานที่ ดร.ศุภชัยระบุว่าภูมิใจที่สุดในฐานะเป็นลูกชาวนาอำเภอม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี คือ เอาต้นข้าวที่ตายจากโรคคอรวงข้าวไหม้ไปพูดและแสดงในสภาเมื่อปลายปี 2553 กระทั่งรัฐบาลเห็นความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่กำลังประสบภัยคุกคามต่อผลผลิต สั่งหน่วยงานลงสำรวจให้ความช่วยเหลือ และเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2554 คณะรัฐมนตรีมีมติให้จ่ายเงินชดเชยแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ประสบปัญหาพืชผลเสียหายจากโรคดังกล่าวทั้งประเทศ ส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับเงินช่วยเหลือทั้งสิ้น 439 ล้านบาท
สำหรับการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูการเพาะปลูก ดร.ศุภชัยบอกว่า ได้วางแผนใช้เวลา 17 วัน ลงพบกับประชาชนทั้ง 323 หมู่บ้าน 28 ตำบล โดยใช้เวลาช่วงเช้าและเย็นหมู่บ้านละ 30 นาที เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจชี้แจงนโยบายที่จะเข้าไปทำหน้าที่ในสภา พร้อมมั่นใจจากการทำงานที่ผ่านมาจะสามารถชนะใจประชาชนในเขตเลือกตั้งที่ 2 ได้กลับเข้าสภาอีกครั้งแน่นอน