กาฬสินธุ์-นากุ้งก้ามกรามในพื้นที่ ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ได้รับความเสียหายจากปัญหากุ้งน็อกกว่า 3,000 ไร่ เกษตรกรสูญรายได้ไม่ต่ำกว่ารายละ 50,000 บาท หลังปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวนทั้งร้อน หนาว เย็นและฝนตกในวันเดียวกัน อีกทั้งยังมีปัญหาฝนกรดอีกด้วย
รายงานข่าวแจ้งว่า จากสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้นากุ้งก้ามกรามในพื้นที่ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ที่มีเนื้อที่กว่า 3,000 ไร่ เกิดปัญหากุ้งน็อก โดยสภาพอากาศที่มีทั้งร้อนอบอ้าว หนาวเย็นและฝนตกในวันเดียวกัน ทำให้กุ้งปรับสภาพไม่ทัน กุ้งก้ามกรามขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ตายเกลื่อนเต็มบริเวณ
นายพิสิษฐ์ สินนภาโชคอนันท์ ชาวนากุ้งบ้านตูม หมู่ 4 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าช่วงนี้ชาวนากุ้งที่เลี้ยงกุ้งก้ามกรามในพื้นที่ต.บัวบาน อ.ยางตลาด ที่เป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในจ.กาฬสินธุ์ กำลังประสบปัญหากุ้งตาย เนื่องจากไม่มีน้ำสำหรับเปลี่ยนถ่ายในบ่อเลี้ยงกุ้ง
ทั้งนี้ จากสาเหตุที่เขื่อนลำปาวปิดการส่งน้ำ เพื่อทำการซ่อมแซมคลองตามฤดูกาล ทำให้น้ำในบ่อที่ไม่ได้เปลี่ยนถ่ายกลายเป็นน้ำเสีย เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค กุ้งจึงเริ่มตายลงเรื่อยๆ ยิ่งวันใดสภาพอากาศวิปริตเลวร้าย ร้อนจัด และมีฝนตกลงมา กุ้งปรับตัวไม่ทันจึงน็อกตายดังกล่าว
“โดยเฉพาะเมื่อคืนนี้ฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก ประกอบกับน้ำฝนใหม่มีสภาพเป็นกรด เมื่อผสมกับน้ำเสียในบ่อทำให้อุณหภูมิของน้ำเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ในเช้าวันนี้กุ้งแทบทุกบ่อทั้งกุ้งอนุบาลและกุ้งโตพร้อมจำหน่ายปรับตัวไม่ทัน จึงเกิดการน็อกตายเป็นจำนวนมาก แม้จะนำเครื่องสูบน้ำและใช้เครื่องปั่นน้ำ เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้ก็ไม่สามารถช่วยได้ จากที่ประเมินดูทั้งกุ้งเล็กกุ้งใหญ่ คงเสียหายเป็นจำนวนมาก คาดรายละไม่ต่ำกว่ารายละ 5 หมื่นบาททีเดียว”
ด้านนายอุทัย สิงห์โตทอง ประมงจ.กาฬสินธุ์กล่าวว่า เนื่องจากสภาพอากาศในระยะนี้ที่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูกาล ที่บางวันร้อนจัด อบอ้าว สลับกับหนาวเย็น และมีฝนตกลงมา เป็นสาเหตุทำให้สัตว์น้ำ โดยเฉพาะกุ้งก้ามกราม ที่ไวต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศปรับสภาพร่างกายไม่ทันเกิดการน็อกตาย
ปัญหาดังกล่าว สามารถแก้ไขโดยชาวนากุ้งต้องลดปริมาณกุ้งเพื่อลดความหนาแน่น โดยระบายกุ้งออกจากบ่อ มีการติดตั้งอุปกรณ์ประเภทเครื่องตีน้ำ และแหล่งกักเก็บน้ำสำรอง เพื่อให้เกิดการหมุนเวียน และสร้างออกซิเจนในบ่อกุ้ง ที่จะเป็นการลดความเสียหายได้
“ในช่วงฤดูฝน ที่ปกติคุณสมบัติของน้ำฝนใหม่จะมีสภาพเป็นกรด ชาวนากุ้งต้องระวังเป็นพิเศษ โดยทำให้เกิดการหมุนเวียนของน้ำในบ่อเพื่อให้เกิดความเจือจาง ลดความเป็นกรด หรือหากจะนำน้ำฝนที่ไหลมาตามคลองเข้าในบ่อ ต้องสังเกตปฏิกิริยาของสัตว์น้ำในบริเวณนั้น ที่หากเห็นสัตว์น้ำขนาดเล็กอย่างกุ้งฝอยปลาเล็กปลาน้อย ตายหรือว่ายกระเสือกกระสน ต้องไม่นำน้ำเข้าบ่อเลี้ยงกุ้งโดยเด็ดขาด”
อย่างไรก็ตาม สำหรับความเสียหายของบ่อเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ประมงจ.กาฬสินธุ์จะได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกสำรวจ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือระยะยาวต่อไป
นายพิสิษฐ์ สินนภาโชคอนันท์ ชาวนากุ้งบ้านตูม หมู่ 4 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ และชาวนากุ้ง ระดมเครื่องสูบน้ำและแรงงานในครอบครัว ช่วยกันเก็บกุ้งในบ่อที่น็อคตาย เนื่องจากสภาพน้ำเสียและฝนตกที่มีสภาพเป็นกรด