xs
xsm
sm
md
lg

กก.SML กาญจน์ จี้ตรวจสอบการวางท่อน้ำประปาหมู่บ้านไม่โปร่งใส แฉโดนปลัดข่มขู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กาญจนบุรี - คณะกรรมการโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (SML) หมู่บ้านรางสะเดา อำเภอท่าม่วง กาญจนบุรี นำชาวบ้านกว่า 50 คน รวมตัวเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบโครงการวางท่อน้ำประปาหมู่บ้าน หลังพบกลิ่นตุการดำเนินการไม่โปร่งใส พร้อมแฉมีปลัดอำเภอท่าม่วงคนหนึ่งข่มขู่ให้เซ็นต์รับงาน

เมื่อเวลา 11.00 น.วันนี้ (17 พ.ค.) ที่บริเวณหมู่บ้านรางสะเดา หมู่ 4 ต.พังตรุ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี มีชาวบ้านกว่า 50 คน นำโดย นางจิราภา นิลนก อายุ 38 ปี อยู่บ้านเลขที่ 4 หมู่ 4 ต.พังตรุ พร้อมนางกิมเลี้ยน คำนุ อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 11/1 หมู่ 4 ต.พังตรุ เป็นแกนนำ ในฐานะเป็นคณะกรรมการโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (SML) หมู่ 4 ได้รวมตัวกันเพื่อร้องเรียนกรณีให้มีการตรวจสอบโครงการวางท่อน้ำประปาหมู่บ้านรางสะเดา โดยการรวมตัวในครั้งนี้ มีการหารือกันเพื่อร่วมกันขอตรวจสอบการดำเนินการของโครงการดังกล่าว

นางจิราภา และ นางกิมเลี้ยน แกนนำทั้ง 2 เปิดเผยว่า การรวมตัวดังกล่าวเนื่องจากที่ผ่านมาตนในฐานะตนทั้ง 2 เป็นคณะกรรมการ SML ได้ร่วมกันตรวจสอบโครงการดังกล่าวพบว่ามีโครงการวางท่อน้ำประปาในหมู่บ้านรางสะเดา หมู่ 4 ต.พังตรุ อ.ท่าม่วง โดยใช้งบประมาณ 2.5 เสนบาท ปรากฏว่า การดำเนินการดังกล่าวได้นำบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็นคณะกรรมการของกองทุนมาทำการจัดซื้อจัดจ้างวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ โดยการดำเนินการดังกล่าวไม่ได้แจ้งให้คณะกรรมการทราบและไม่มีการทำประชาคมหมู่บ้านที่สำคัญมีการนำบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นกรรมการ ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบของกองทุนนี้

โดยก่อนหน้านี้ ตนได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยัง นายณฐพลษ์ วิเชียรเพริศ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ผ่านทางศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่เรื่องก็เงียบหายไป และเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2554 ตนพร้อมคณะกรรมการได้เข้าประชุมโครงการดังกล่าว เมื่อเห็นว่าโครงการนี้ไม่ถูกต้องตามระเบียบตนพร้อมคณะกรรมการรวม 5 คนจึงไม่เซ็นต์รับโครงการนี้ และลุกออกจากที่ประชุมเดินทางกลับบ้านทันที

“แต่แล้วในช่วงค่ำราว 1 ทุ่มเศษ ก็มีปลัดอำเภอท่าม่วงคนหนึ่งได้มาหาที่บ้านและพูดจาทำนองข่มขู่ โดยพูดแกมบังคับให้เซ็นรับโครงการ โดยอ้างว่าหากไม่เซ็นจะให้ทางอำเภอมาดำเนินการ ฉันจึงจำใจเซ็นรับโครงการพร้อมคณะกรรมการทุกคน แต่เมื่อมาตั้งหลักได้จึงไม่ยินยอม และมีชาวบ้านอีก 153 ครัวเรือน รวม 478 ราย ร่วมเซ็นชื่อไม่รับโครงการนี้และนำเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีแล้ว โดยขอยืนยันว่า หากไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขจะเดินหน้าร้องเรียนต่อไป เพราะถือเป็นโครงการที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบและกฏเกณฑ์ของระเบียบกองทุน”
กำลังโหลดความคิดเห็น