ศูนย์ข่าวศรีราชา - ชาวบ้านห้วยเลื่อน จังหวัดน่าน เดินทางมาเรียนรู้เรื่องดิน ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ เตรียมสร้างโบสถ์ดินจิตอาสา แห่งแรกแผ่นดินล้านนา ให้เป็นมรดก และขุมทรัพย์ทางปัญญา แหล่งศึกษา เรียนรู้ เศรษฐกิจพอเพียง วัฒนธรรม และศาสนา
วันนี้ (10 พ.ค.54) ณ.ศูนย์การเรียนรู้ทฤษฎีใหม่ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ต.บางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี นาวาเอก วิรัตน์ สมจิตร ผู้บังคับการ กรมก่อสร้างและพัฒนา ฐานทัพเรือสัตหีบ ได้ให้การต้อนรับ พระสมุห์ อินทอง ผู้ดูแลที่พักสงฆ์ห้วยเลื่อน และเจ้าคณะตำบลพญาแก้ว ต.พญาแก้ว อ.เชียงกลาง จ.น่าน , ดร.ธัญดา ธัญทิพพสาร ผู้ก่อตั้งโครงการ “One ปันบาท” เพื่อสร้างสรรค์พัฒนาวิธีคิดแบบจิตอาสาสู่การช่วยเหลืออย่างยั่งยืน” นายบุญเลิศ ยศอาลัย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ต.เปือ อ.เชียงกลาง จ.น่าน นายโสภณ คำวงศ์ ปราชญ์ชาวบ้าน พร้อมแกนนำชาวบ้าน เพื่อศึกษา เรียนรู้เรื่องดิน การผสมดิน การทำก้อนดิน ก่อสร้างบ้านดิน โดยจะนำความรู้ ประสบการณ์ ไปพัฒนาในการก่อสร้างโบสถ์ดิน แบบจิตอาสา ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วม แห่งแรกของแผ่นดินล้านนา เพื่อเป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้ และเป็นมรดกสืบทอด ซึ่งเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ทางปัญญา ประจำท้องถิ่น
พระสมุห์ ทองอินทอง เจ้าคณะตำบลพญาแก้ว และผู้ดูแลที่พักสงฆ์ห้วยเลื่อน กล่าวว่า ปัจจุบันได้มีการก่อสร้างฐาน และโครงสร้างโบสถ์ ขนาดความกว้าง 9 เมตร ยาว 11 เมตร ไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ยังขาดปัจจัยอีกจำนวนมาก ประกอบกับบ้านห้วยเลื่อนมีความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย ทำการเกษตร ดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงทุกครัวเรือน กำลังทรัพย์จึงน้อย ซึ่งได้รับคำแนะนำ และคำปรึกษาจาก นาวาเอก วิรัตน์ สมจิตร และ ดร.ธัญดา ธัญทิพพสาร ให้ปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่
แนวความคิดนั้น คือ ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ใช้ทุนทรัพย์น้อย ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วม ซึ่งสามารถสร้างอัตลักษณ์โดดเด่น ให้กับท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการสร้างโบสถ์ดินจิตอาสา ระดมผู้มีจิตศรัทธา ผู้รู้ มาร่วมกันสร้างให้เป็นแบบอย่าง เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ เป็นมรดกทางปัญญาให้กับอนุชนรุ่นหลังต่อไป จึงได้ประชุม ปรึกษาหารือกับชาวบ้าน และได้ตัดสินใจพาแกนนำประชาชน ปราชญ์ชาวบ้าน มาศึกษาดูงาน เรื่องการผสมดิน ทำก้อนดิน เพื่อนำไปสร้างโบสถ์ดิน ณ ที่พักสงฆ์ห้วยเลื่อน
ด้านนาวาเอกวิรัตน์ สมจิตร กล่าวว่า จากการที่ได้เดินทางไปศึกษาวิถีชีวิตประชาชนหมู่บ้านห้วยเลื่อน เป็นหมู่บ้านที่น่าสนใจมาก ทุกครัวเรือนใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปฎิบัติ มีการปลูกพืชผัก สวนครัว ไว้บริโภคทุกครัวเรือน มีการบริหารจัดการอย่างถูกหลัก ถูกวิธี สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีต่อชุมชนต่าง ๆ ได้อย่างดีเยี่ยม แต่ยังขาดกระบวนการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
โดยเฉพาะการสร้างโบสถ์ซึ่งต้องใช้ทุนทรัพย์สูงมาก จึงได้แนะนำให้สร้างโบสถ์ด้วยดิน นำศิลปะล้านนาเข้ามาประยุกต์ใช้ให้เกิดความสวยงาม เหมาะสม ประหยัด และสามารถเปิดโอกาสให้ประชาชนจิตอาสามามีส่วนร่วมสร้าง ร่วมรักษา ร่วมบูรณะให้เกิดความร่วมมือในการดูแลรักษาต่อไปในอนาคตอีกด้วย จึงได้ให้ความรู้ ความเข้าใจเพื่อนำไปประยุกต์ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นสร้างโบสถ์ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี