ศูนย์ข่าวศรีราชา - รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ร่วมหน่วยแพทย์ส่วนราชการ และเอกชน ซ้อมแผนรับมือช่วยเหลือผู้ประสบภัยบนท้องถนนจำนวนมาก ช่วงเทศกาลสงกรานต์ สร้างความเชื่อมั่นเตรียมความพร้อมระหว่างหน่วยงาน ให้เกิดประสิทธิภาพ ลดการสูญเสีย
พลเรือตรี พันเลิศ แกล้วทนงค์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ได้ทำการฝึกซ้อมแผนรับผู้ป่วยจำนวนมาก ประจำปี 2554 ณ ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยมีแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่จาก รพ.สัตหีบกิโลเมตรที่ 10 รพ.วัดญาณสังวราราม รพ.อาภากรเกียรติวงศ์ฐานทัพเรือสัตหีบ กองพันพยาบาลกรมสนับสนุนกองพลนาวิกโยธิน กองพันพยาบาลกรมสนับสนุนหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง และหน่วยกู้ภัยมูลนิธิสว่างโรจนธรรมสถานสัตหีบ เข้าร่วมการฝึก
ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มทักษะในการปฏิบัติงานตามแผนของโรงพยาบาล ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมของระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เครือข่ายที่ 4 สำนักงานบริการการแพทย์ฉุกเฉิน จังหวัดชลบุรี เพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือระหว่างทีมสหสาขาวิชาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่รับผิดชอบ ในการเตรียมความพร้อมรับผู้ป่วยที่เกิดจากอุบัติเหตุจำนวนมากในช่วงเทศกาลวันหยุดเทศกาลสงกรานต์
พลเรือตรี พันเลิศ แกล้วทนงค์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือเปิดเผยว่า ช่วงวันหยุดติดต่อหลายวันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทางโรงพยาบาลได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือกับผู้ประสบภัยบนท้องถนน ด้วยการร่วมกับหน่วยแพทย์ต่าง ๆ ในพื้นที่ ทำการฝึกซ้อมแผนรับผู้ป่วยจำนวนมาก โดยได้มีการสมมุติสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุรถชนบนท้องถนน มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ต้องทำการช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างเร่งด่วน เพื่อเข้ารักษาตัวยังห้องฉุกเฉิน ของทางโรงพยาบาล โดยมีทีมแพทย์ พยาบาล ทำการคัดแยกผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บตามอาการ พร้อมทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนทำการรักษา เพื่อความรวดเร็วในการช่วยชีวิต
ทั้งนี้ในฐานะที่โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ เป็นโรงพยาบาลศูนย์ภาคตะวันออกที่มีขนาดใหญ่ ที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้จำนวนมาก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา และมีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงาน ด้วยเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดเพื่อเกิดความรวดเร็ว การวางแผน และการบริหารจัดการกับกำลังพล ตลอดจนผู้ป่วย ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความสูญเสียให้มากที่สุดเมื่อถึงมือแพทย์ สุดท้ายเพื่อหาข้อขัดข้องมาดำเนินการแก้ไขในการซ้อมแผนร่วมกัน พร้อมนำข้อเสนอแนะมาปรับปรุงพัฒนา นำประสบการณ์จริงของแต่ละหน่วยงานมาพัฒนาการช่วยเหลือให้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพต่อไป