กาญ๗นบุรี - ศิลปินภาพวาดร่วมทำกิจกรรม ครบรอบ 13 ปีการต่อสู้ของเหยื่อตะกั่วบ้านคลิตี้ล่าง ตำบลชะแล ทองผาภูมิ กาญจนบุรี
จากการที่ชาวบ้านคลิตี้ล่าง ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ได้ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมกรณีที่ได้รับผลกระทบจากพิษตะกั่ว จนถึงวันนี้เป็นเวลานานกว่า 13 ปีแล้ว
ต่อมาเมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (1 พ.ค.) นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา พร้อมคณะศิลปินอาจารย์นักศึกษาลงพื้นที่บ้านคลิตี้ล่าง หมู่ 4 ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ เพื่อร่วมกิจกรรมโครงการ 13 ปี คลิตี้ ชีวิต สายน้ำ ที่จัดขึ้นที่ ศาลาประจำหมู่บ้าน โดยมีชาวบ้านมาร่วมกิจกรรมต่างๆ
โดย นายสุรพงษ์ เปิดเผยเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ว่า จากเหตุการณ์เมื่อ 13 ปีที่ผ่านมานั้น ชาวบ้านคลิตี้ล่างได้อะไร กับการต่อสู้ กับการเรียกร้องขอความเป็นธรรมต่อสังคม และผลตอบรับที่ได้มานั้นเป็นอย่างไร โดยในวันนี้ตนได้ร่วมกับคณะศิลปินและนักเขียนภาพพร้อมทั้งอาจารย์และนักศึกษาประมาณเกือบ 50 คน อาทิเช่น อ.วิชัย มุกดามณี อ.ชูศักดิ์ ศรีขวัญ อ.ทรงชัย บัวชุม จาก ม.ศิลปากร หรือศิลปินอิสระอย่าง คุณนภดล โชตะสิริ เป็นต้น
โดยมีอาจารย์จากมหาวิยาลัย และสถาบันการศึกษารวม 13 แห่ง ที่นำนักศึกษา และผู้สนใจเข้ามาร่วมกิจกรรมเขียนภาพ ถ่ายภาพและทำหนังสั้น หรือละครสั้นร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ โดยผลงานทั้งหมดจะถูกนำไปแสดงที่กาญจนบุรีในเดือน มิ.ย.2554 จากนั้นเดือน ก.ค.2554 ก็จะนำไปแสดงที่หอศิลปะและวัฒนธรรมกรุงเทพ
ผอ.ศูนย์ศึกษากระเหรี่ยงและพัฒนา เปิดเผยต่อว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นการสอนเด็กและเยาวชนชาวคลิตี้ล่างให้ร่วมกันทำกิจกรรมกับนำศิลปินและนักเขียนภาพพร้อมทั้งนักศึกษาเหล่านี้เพื่อเป็นการสร้างเสริมพัฒนาการทางสมองให้แก่เด็กและเยาวชนที่เคยได้รับผลกระทบจากมลพิษของสารตะกั่วให้มีการพัฒนายิ่งขึ้น
พร้อมทั้งให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออกถึงความคิดที่เกี่ยวกับเรื่องสารตะกั่ว และผลกระทบที่พวกเขาได้รับ ในวาระครบรอบ 13 ปี ที่สารตะกั่วปนเปื้อนลำห้วยคลิตี้ล่าง ได้สะท้อนทุกข์ภัยที่ชาวบ้านได้รับจากการที่ไร้ความรับผิดชอบต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมของการทำเหมือง โดยวัตถุประสงค์ของการจัดงานครบรอบ 13 ปีในครั้งนี้ เพื่อพัฒนานักสื่อสารด้านสุขภาวะของชุมชนให้มีศกภาพ และเชื่อมโยงเครือข่ายสื่อสารสุขภาวะระดับท้องถิ่น
สนับสนุนกระบวนการลดความไม่เป็นธรรมในสังคม และร่วมขับเคลื่อนสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ โดยบูรณาการองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม กระบวนการพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชน รณรงค์ช่วยเหลือดูแลรักษาสุขภาพของชาวบ้านคลิตี้ที่เจ็บป่วย
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า จากปัญหาของชาวคลิตี้ล่าง หากเปรียบกับเหตุการณ์ภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น แสดงให้เห็นถึงการแก้ปัญหาของทางราชการญี่ปุ่นกับราชการไทยมีความแตกต่างกัน รวมถึงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ญี่ปุ่นทางเจ้าของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์รีบออกมาแสดงความรับผิดชอบโดยขอโทษประชาชน
แต่ที่บ้านคลิตี้ล่างชาวบ้านต้องต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมต่อไป อีกทั้งการแก้ไขปัญหาของทางภาครัฐเป็นไปอย่างล่าช้า กรณีการต่อสู้ของชาวบ้านคลิตี้ล่างถือเป็นอุทธาหรณ์ให้สังคมไทยในชุมชนต่างๆ ต้องมีความตื่นตัวในการร่วมกันเฝ้าระวังเกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อชุมชน