xs
xsm
sm
md
lg

วาง 4 แนวทางถมทรายเพิ่มหาดพัทยา‏

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ที่ปรึกษาเมืองพัทยา เสนอ 4 ทางเลือกแก้ปัญหาชายหาดพัทยา หลังพบน้ำทะเลกัดเซาะรุนแรงจนชายหาดไม่เหลือสภาพ ชี้ปัจจุบันถือว่าเข้าขั้นวิกฤติหากนิ่งเฉยก็หมดพื้นที่รองรับการท่องเที่ยวในระยะ 3 ปี

เมื่อเร็ว ๆนี้ นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงการดำเนินการโครงการศึกษาวางแผนแม่บทและสำรวจออกแบบเพื่อเสริมทรายชายหาดพัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นโครงการที่เมืองพัทยาได้ร่วมกับกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม จัดดำ เนินการขึ้นหลังจากพบว่าปัจจุบันสภาพชายหาดเมืองพัทยา ที่ถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญมีสภาพของการถูกน้ำทะเลกัดเซาะอย่างรุนแรงจนทำให้พื้นที่ชายหาดหายไปแล้วกว่า 70 % และคาดว่าหากยังไม่มีแผนดำเนินการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมก็อาจทำให้พื้นที่ชายหาดหมดไปในระยะเวลา 3-5 ปีนี้ ซึ่งจะถือว่าส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง

นายอิทธิพล กล่าวว่า จากอดีตจนถึงปัจจุบันพบว่าสภาพชายหาดเมืองพัทยามีปัญหาในเรื่องของการกัดเซาะเป็นอย่างมาก จนทำให้เนื้อที่ชายหาดโดยเฉพาะบริเวณพัทยาเหนือถึงพัทยาใต้นั้นมีความกว้างเพียง 3-5 เมตร และมีนัยยะสำคัญที่บ่งชี้ว่าหากปล่อยทิ้งไว้ก็จะทำให้ชายหาดสูญหายไปอีกจนหมดสภาพในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งเรื่องนี้เมืองพัทยาไม่ได้นิ่งนอนใจและพยายามสำรวจ ศึกษาผลกระทบ รวม ทั้งชี้แจงผลเสียที่เกิดขึ้นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เข้ามาแก้ไข

เนื่องจากเรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องระดับชาติที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองคงไม่สามารถดำเนินการเพียงลำพังได้ แต่ก็พบว่ายังไม่มีความคืบหน้ามากนัก อย่างไรก็ตามปัจจุบันทางกรมเจ้าท่า ได้เสนอตัวในการเป็นเจ้าภาพร่วมเพื่อเข้ามาศึกษา สำรวจและวางแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาทำศึกษาและทำแผนตามหลักวิชากรที่ถูกต้อง

ซึ่งปัจจุบันได้มีการลงพื้นที่และดำเนินการไปแล้วในระยะเวลากว่า 6 เดือน ซึ่งพบว่ามีความคืบหน้าไปมากและทำให้มองเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมด้วย โดยคาดว่าจากนี้ในช่วงประมาณสิ้นปี 54 คงจะมีบทสรุปที่ชัดเจนก่อนนำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเพื่อขอรับความคิดเห็นก่อนนำเรื่องเสนอตรงต่อภาครัฐเพื่อขอจัดสรรงบประมาณในการแก้ไขต่อไป

ทางด้าน ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าโครงการวิจัยฯ เปิดเผยว่าหลังได้รับมอบหมายจากกรมเจ้าท่าก็ได้จัดแบ่งทีมทำงานออกเป็นหลายชุดเพื่อศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างครอบคลุมตามหลักวิชาการ เพื่อใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงให้เห็นถึงสภาพที่เกิดขึ้นจริง ทั้งนี้จากการตรวจสอบสภาพชายหาดนั้นแต่เดิมในปี 2495 นั้นพบว่าชายหาดพัทยามีเนื้อที่รวมกว่า 60 ไร่ มีขนาดความกว้างของชาย หาดถึง 35.6 เมตร ขณะที่ในปี 2554 นี้ชายหาดพัทยามีเนื้อที่เหลือเพียง 8.5 ไร่ ความกว้างเหลือเพียง 3.5-5 เมตร

โดยพบว่าค่าเฉลี่ยของการถูกกัดเซาะนั้นอยู่ที่ 1.8 เมตรต่อปี หรือประมาณทรายที่หายไปเฉลี่ย 10,000 ลบ.ม.ต่อปี โดยพบว่าทรายส่วนใหญ่จะไปตกตะกอนอยู่ในอ่าวห่างจากฝั่งประมาณ 500-1,000 เมตร ซึ่งสาเหตุหลักนั้นเกิดจากเรื่องของโครงสร้างอาคาร ท่าจอดเรือ เรื่องของการใช้ที่ดิน และเรื่องของการระบายน้ำของเมืองพัทยาเป็นหลัก ซึ่งหากยังปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปคาดว่าในระยะ เวลาไม่เกิน 3-5 ปีนี้ ชายหาดพัทยาจะถูกน้ำกัดเซาะจนหายไปทั้งหมดจนมาถึงแนวคันหินที่สร้างไว้ โดย เฉพาะในช่วงพื้นที่จากบริเวณพัทยากลางถึงพัทยาใต้

ศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวต่อไปว่าขณะนี้ทางทีมวิจัยได้เสนอทางเลือกในการแก้ไขปัญหาไว้ใน 4 ทาง เลือกหลัก ได้แก่ 1.การนำทรายที่ดูดมาจากทะเลขึ้นมาเติมชายหาดในระยะ 35 เมตรจากฝั่งหรือประมาณ 500,000 ลบ.ม. เพื่อให้เท่ากับพื้นที่ชายหาดเดิมในปี 2495 ในระยะทางยาว 2.7 กม.จากพัทยาเหนือถึงพัทยาใต้ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เมืองพัทยามีชายหาดกว้างขึ้นแต่ก็ยังจะมีการกัดเซาะเช่นเดิมในอัตรา 1.8 เมตรต่อปี และจะต้องนำทรายมาเติมใหม่ในปีที่ 17 ซึ่งทางเลือกนี้จะต้องใช้งบประมาณจำนวน 247.59 ล้านบาท 2.การนำทรายที่ดูดมาจากทะเลขึ้นมาเติมในระยะ 35 เมตรเช่นกัน แต่จะมีการนำถุงทรายมากันแนวไว้ในระยะ 15 เมตรจากแนวฝั่ง

โดยวิธีนี้ชายหาดจะถูกน้ำกัดเซาะในอัตรา 1.8 เมตรต่อปีเช่นกัน และจะต้องนำทรายมาเติมใหม่ในปีที่ 14 จำนวน 2.6 แสน ลบ.ม.หลังจากที่น้ำกัดเซาะชายหาดจนถึงแนวถุงทราย โดยวิธีนี้จะใช้งบประมาณ 323.73 ล้านบาท 3.การนำทรายที่ดูดมาจากทะเลขึ้นมาเติมชายหาดในระยะ 35 เมตร พร้อมการนำถุงทรายมากันแนว 15 เมตร และการก่อสร้างแนวกันคลื่นบริเวณหัวแหลมบาลีฮายในระยะ 725 เมตร

ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ชายหาดพัทยาลดปัญหาในเรื่องของคลื่นลมและแรงปะทะของการหมุนวนของน้ำในทะเล จึงทำให้การกัดเซาะลดลงเหลือเพียง 0.7 เมตรต่อปี ซึ่งวิธีนี้จะต้องนำทรายมาเดิมใหม่ในระยะเวลาอีก 25 ปีข้างหน้า แต่ต้องใช้งบประมาณสูงถึง 521.83 ล้านบาท และวิธีที่ 4.คือการเติมทรายที่ดูดมาจากทะเลขึ้นมาเติมชายหาดในระยะ 35 เมตรจากฝั่ง พร้อมนำถุงทรายมากันแนวในระยะ 15 เมตร และการสร้างคันดักทรายใต้น้ำบริเวณช่วงหัวหาดและท้ายหาดในระยะความยาว 50 เมตร ซึ่งวิธีนี้จะให้น้ำทะเลลดความรุนแรงในเรื่องของการกัดเซาะเหลือเฉลี่ยประมาณ 0.79 เมตรต่อปี แต่ก็ต้องนำทรายมาเติมในเวลา 14 ปีหลังจากการถมครั้งแรก โดยวิธีนี้จะใช้งบประมาณราว 329.4 ล้านบาท

ศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้สิ่งที่หลายคนเป็นห่วงคือในเรื่องของการเติมทราย ที่มองเห็นว่าควรจะนำทรายมาจากพื้นที่จังหวัดข้างเคียงมาเติมชายหาด ซึ่งเรื่องนี้จากสภาพความเป็นจริงแล้วการเติมทรายชายหาดนั้นควรจะเป็นทรายที่มาจากทะเลเป็นหลัก เนื่องจากมีความอิ่มตัวและมีสภาพใกล้เคียงกับชายหาดจึงเสนอว่าควรจะใช้การดูดทรายจากทะเลมาเติมมากกว่า ซึ่งกรณีนี้ถือว่ามีการดำเนินการมา แล้วในหลายพื้นที่ทั่วโลกและถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่

อีกทั้งยังมีราคาถูกกว่าการนำทรายบนบกมาเติมเป็นจำ นวนมาก โดยจากการสำรวจพบว่ามีสันทรายบริเวณอ่าวนาจอมเทียนที่มีสภาพความเหมาะสม เพียงแต่ต้องเป็นทรายที่ไม่มีขุ่นตะกอนซึ่งอาจทำให้ชายหาดและน้ำทะเลขุ่นข้นได้และอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อการท่องเที่ยว แต่หากนำทรายจากบนบกมาเติมนั้นแม้ว่าจะมีสภาพใกล้เคียงกันแต่ส่วนใหญ่พบว่าจะมีโลหะหนักแฝงอยู่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาภายหลังได้

สำหรับทั้ง 4 แนวทางเลือกนี้ทางทีมวิจัยได้พิจารณาถึงผลดี-ผลเสีย และแนวทางการทำงานไว้อย่างครอบคลุม ซึ่งกำลังรอผลสรุปที่ชัดเจนอีกครั้ง โดยเฉพาะผลการศึกษาเรื่องของคลื่นลมในทะเลในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ ที่จะมีมรสุมลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดเข้าสู่อ่าวพัทยาว่าจะมีการเคลื่อนไหวของทรายและการกัดเซาะอย่างไร

จากนั้นจึงจะทำการสรุปเป็นผลการศึกษา ก่อนร่างแผนแม่บทการแก้ไขที่เป็นรูป ธรรมก่อนที่จะส่งมอบให้เมืองพัทยา เพื่อชี้แจงความคืบหน้าและสอบถามความคิดเห็นจากผู้บริหาร สมา ชิกสภาเมืองพัทยาและประชาชนในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการชี้แจงต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอจัดสรรงบประมาณและโครงการมาดำเนินการแก้ไขต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น