ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ปิดโครงการยับยั้งพายุลูกเห็บแล้ว หลังดำเนินการ 23 วัน 5 จังหวัด ยับยั้งได้ 27 กลุ่มเมฆ พร้อมประชุมสรุป-ประเมินผลการทำงาน ส่วนจะทำต่อหรือไม่ ยังไม่มีแผนเหตุยังเป็นแค่โครงการทดลอง ด้าน ผอ.ศูนย์ เผย สถานการณ์ฝนภาคเหนือยังปกติดี
นายทรง กลิ่นประทุม ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ กล่าวถึงการดำเนินโครงการปฏิบัติการยับยั้งพายุลูกเห็บ ว่า คณะการดำเนินงานของโครงการดังกล่าวได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยนับตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการในพื้นที่รัศมี 240 กิโลเมตรจากสถานีเรดาร์ที่ จ.ลำพูน ของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถานีเรดาร์ที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ของสำนักการบินเกษตร ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.เป็นต้นมา ได้ปฏิบัติการยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บไปแล้ว 27 กลุ่มเมฆ เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มเมฆเหล่านั้นแปรสภาพเป็นพายุลูกเห็บซึ่งอาจสร้างความเสียหายและเดือดร้อนแก่ประชาชนที่อยู่ในรัศมีการทำการ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการดังกล่าวซึ่งเป็นการปฏิบัติการร่วมกับกองทัพอากาศ โดยการใช้เครื่องบินอัลฟ่าเจ็ท จู่โจม และยิงพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ เข้าใส่กลุ่มเมฆ ยังถือเป็นเพียงโครงการในขั้นทดลองเท่านั้น ดังนั้น ในขณะนี้ซึ่งครบระยะเวลาการปฏิบัติงานแล้ว ทางศูนย์ จึงจะปิดการปฏิบัติภารกิจแต่เพียงเท่านี้และจะทำการสรุปผลการดำเนินงานเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้ประโยชน์ในการทำงานต่อไป ส่วนการดำเนินการในอนาคตนั้นคงจะต้องรอให้การสรุปและประเมินผลแล้วเสร็จก่อน รวมทั้งพิจารณาตามความจำเป็นว่าจะมีการออกปฏิบัติการอีกหรือไม่
ทั้งนี้ จากข้อมูลสรุปผลการดำเนินโครงการ พบว่า โครงการดังกล่าวเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.-18 เม.ย.2554 รวม 27 วัน โดยออกปฏิบัติการเพื่อยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บจำนวน 6 วัน 11 เที่ยวบิน ในพื้นที่ปฏิบัติการ 5 จังหวัด 14 อำเภอ ได้แก่ อ.อมก๋อย อ.สันกำแพง อ.ไชยปราการ อ.สะเมิง อ.หางดง อ.เมือง อ.ฮอด และ อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่, อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน, อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง, อ.ท่าสองยางและ อ.แม่ระมาด จ.ตาก และ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
หลังจากการปฏิบัติการแล้ว พบว่า จากการติดตามกลุ่มเมฆปฏิบัติการด้วยเรดาร์ตรวจกลุ่มฝน พบว่า มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง ส่วนการโทรศัพท์สอบถามในบริเวณพื้นที่ปฏิบัติการ พบว่า ส่วนใหญ่ไม่มีลูกเห็บตกในพื้นที่ มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง กับลมแรงที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย ส่วนกรณีที่เมฆก่อตัวสูงอย่างรวดเร็ว จนทำการยับยั้งการเกิดลูกเห็บไม่ทัน ทีมปฏิบัติการได้เปลี่ยนแผนการปฏิบัติเป็นการบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บแทน และพบว่า ช่วยทำให้ลูกเห็บที่ตกมีขนาดเล็ก โดยพบลูกเห็บขนาดเท่าปลายนิ้วก้อยตกในพื้นที่ อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ และ อ.เกาะคา จ.ลำปาง
ส่วนการประเมินผลการปฏิบัติงานนั้น พบว่า ยังมีข้อบกพร่องในด้านเทคนิค ได้แก่การประสานงานระหว่างเครื่องบินที่ขึ้นทำการโจมตีกลุ่มมฆกับสถานีภาคพื้นดิน และสถานีเรดาร์ กับระยะเวลาของการเข้าที่หมาย ซึ่งบางครั้งกลุ่มเมฆก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำการยับยั้งไม่ทัน
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ยังได้กล่าวถึงสถานการณ์การทำฝนเทียมในพื้นที่ภาคเหนือ ว่า ขณะนี้ในพื้นที่มีฝนกระจายอยู่ในเกณฑ์ดี สูงกว่าค่าเฉลี่ยน้ำฝนในรอบ 30 ปี จึงยังไม่พบความเดือดร้อนเรื่องการขาดแคลนน้ำ อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์ได้ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่มีแนวโน้มการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ใน จ.เพชรบูรณ์ กว่า 1 ล้านไร่เศษ ขณะเดียวกัน จะมีการผลิตฝนเทียมเพื่อเติมน้ำลงในเขื่อนภูมิพลให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อความต้องการอีกด้วย