xs
xsm
sm
md
lg

พัฒนาที่ดินกาฬสินธุ์รณรงค์เกษตรกรไถกลบตอซังลดโลกร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การไถกลบตอซังในนาข้าวหลังเก็บเกี่ยวนอกจากช่วยลดโลกร้อนแล้วยังช่วยฟื้นความอุดมสมบูรณ์ของดินได้เป็นอย่างดี
กาฬสินธุ์- สนง.พัฒนาที่ดิน เขต 5 และพัฒนาที่ดินกาฬสินธุ์ เดินหน้ารณรงค์ให้เกษตรกรร่วมลดโลกร้อนด้วยการไถกลบตอซังข้าวในที่นา แทนการจุดไฟเผา เผย ผลสำรวจพบเกษตรกรต้องการไถกลบมากกว่าการเผา และพบว่าต้นตอการเผาตอซังเกิดจากนายทุนรับเหมาไถปรับแปลงนามักง่ายลอบเผาขัดความต้องการของประชาชน

วันนี้ (31 มี.ค.) ที่แปลงนาสาธิตบ้านหนองแวงดง หมู่ที่ 5 ต.กุดโดน อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ นายศรจิต ศรีณรงค์ ผอ.สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 เป็นประธานเปิดการณรงค์ไถกลบตอซังข้าวเพื่อลดโลกร้อน โดยมี นางนงนุช ศรีพุ่ม ผอ.สถานีพัฒนาที่ดิน จ.กาฬสินธุ์ นำหมอดินอาสา และเกษตรกรในพื้นที่หลายร้อยคน เข้าร่วมกิจกรรม

โดยมีการสาธิตการไถกลบตาซังข้าวแบบชีวภาพ การจัดนิทรรศการให้ความรู้ในการฟื้นฟูสมรรถภาพดิน ที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรเป็นอย่างมาก

นายศรจิต ศรีณรงค์ ผอ.สำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 5 กล่าวว่า จากผลสำรวจของหมอดินอาสาที่ประจำอยู่ในหมู่บ้าน ทั่วประเทศกว่า 87,000 คน พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 90 มีความตื่นตัวกับผลกระทบโลกร้อนเป็นอย่างมาก และมีความต้องการที่จะลดโลกร้อนด้วยการลดการเผาตอซังข้าว

สิ่งที่พบจากการณรงค์ที่ไม่ประสบผลสำเร็จในหลายพื้นที่ ไม่ได้เกิดจากตัวเกษตรกร แต่พบว่าอยู่ในส่วนของผู้รับเหมา หรือเจ้าของรถไถ ที่มักจะเผาที่นาก่อนจะลงมือไถโดยให้เหตุผลเพื่อความสะดวกในการไถ ซึ่งเกษตรกรเองก็ไม่ได้พอใจกับวิธีการดังกล่าวแต่ไม่มีทางเลือก

ขณะเดียวกัน ในส่วนของเกษตรกรที่มีความพร้อมได้ให้ความร่วมมือไถกลบตอซังข้าวเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นน่าจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาจุดนี้ได้

ด้าน นางนงนุช ศรีพุ่ม ผอ.สำนักงานที่ดิน จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในพื้นที่ 18 อำเภอของ จ.กาฬสินธุ์ ได้เร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างเต็มที่ โดยมีหมอดินอาสาเป็นผู้ขับเคลื่อน ซึ่งที่จริงแล้วต้นทุนการไถกลบตอซังข้าวไม่ได้สูงมากนัก ราคาเพียง 200-250 บาทต่อไร่เท่านั้น ซึ่งหากเกษตรกรไถกลบตอซังข้าวติดต่อกัน 3 ปี จะเป็นผลดีกับดินในที่นา

โดยเฉพาะการเพิ่มอินทรีย์ธาตุในดินที่จะเป็นประโยชน์ในการปลูกพืชได้ผลผลิตสูงในอนาคต โดยมีเกษตรกรตัวอย่างร่วมให้ข้อมูลกับเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ด้วย ทั้งนี้ ในพื้นที่นำร่องของจ.กาฬสินธุ์ ได้ใช้พื้นที่ในการรณรงค์ไถกลบประมาณ 100 ไร่
หากมีการรณรงค์อย่างจริงจังต่อเนื่อง เชื่อว่าเกษตรกรส่วนใหญ่จะหันมาไถกลบแทนการเผาตอซัง
กำลังโหลดความคิดเห็น