xs
xsm
sm
md
lg

“กานต์แอร์” ดีเดย์ 8 เมษาฯ นี้ เปิดบินเชียงใหม่-แม่สอด รับ EWEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตาก- “กานต์แอร์” เตรียมเปิดบินเชียงใหม่-นครแม่สอด ต้นเมษาฯ นี้ พร้อมชูนครแม่สอดเป็นเมืองเศรษฐกิจและประตูการค้าชายแดน รองรับระเบียงเศรษฐกิจอีสเวตส์อีโคโนมิกคอริดอร์

นายวุฒิ สิทธิสุราษฎร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก พร้อมด้วยนายวิชิต คงรัตนชาติ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดแม่สอด และร้อยโทสมพงษ์ สุขสงวน ประธานกรรมการสายการบิน กานต์ แอร์ ได้ร่วมแถลงข่าวการเปิดสายการบินเชียงใหม่-นครแม่สอดว่า “กานต์แอร์” มีแผนจะเริ่มต้นเที่ยวบินปฐมฤกษ์ในเส้นทางเชียงใหม่-นครแม่สอด โดยใช้เชียงใหม่จุดศูนย์กลางในภาคเหนือ เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ และการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่องของภาคเหนือ ซึ่งปัจจุบันสายการบินกานต์แอร์ได้ทำการบินจากเชียงใหม่สู่ 4 เส้นทาง คือ อำเภอปาย จังหวัดน่าน จังหวัดเชียงราย และจังหวัดแม่ฮ่องสอน มาถึงวันนี้ก็มีแผนที่จะบินในเส้นทาง เชียงใหม่-นครแม่สอด เนื่องจากมองเห็นความสำคัญในด้านการท่องเที่ยวและการขนส่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะเขตนครแม่สอดที่เป็นเมืองเศรษฐกิจ และประตูการค้าชายแดนไทย-พม่า

รองผู้ว่าราชการจังหวัดตากกล่าวว่า ขณะนี้ทางจังหวัดตากยังมีแผนที่จะเตรียมเปิดสายการบินนครแม่สอด-อุ้มผางเพิ่มเติมด้วย เพราะที่ผ่านมาการเดินทางในเส้นทางสายนี้ค่อนข้างลำบาก เส้นทางก็ยังลดเลี้ยว

ร้อยโท สมพงษ์ สุขสงวน ประธานกรรมการบริหารสายการบินกานต์แอร์ กล่าวว่า มีชื่อเต็มๆ ว่า บริษัท กานต์นิธิ เอวิเอชั่น จำกัด ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2553 ใช้ทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาทถ้วน โดยในวันที่ 8 เมษายน 2554 จะเริ่มเที่ยวบินแรกจากเชียงใหม่-แม่สอด จากนั้นจะให้บริการทุกวันจันทร์-ศุกร์ด้วยเครื่องบินเซสนา 208 บี แกรนด์ คาราแวน ขนาด 12 ที่นั่ง

สำหรับพื้นที่ชายแดนแม่สอด กำลังมีการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลจะผลักดันให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแม่สอด และยกฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด” ทำให้สายการบินต่างๆ จำนวน 4 สาย นำเครื่องบินชนิดต่างๆมาบินตามเส้นทางนครแม่สอด-กรุงเทพ-และนครแม่สอด เชียงใหม่ เพื่อรองรับการพัฒนาให้นครแม่สอดเป็นเมืองเศรษฐกิจ ประกอบด้วย สายการบินโซล่าแอร์-สายการบินแฮปปี้แอร์-กานต์แอร์ และนกแอร์ รองรับการเป็นระเบียงเศรษฐกิจอีสเวตส์ อีโคโนมิกคอริดอร์

กำลังโหลดความคิดเห็น