เชียงราย - ทีมเจ้าหน้าที่ศิลปากรภาค 8 ลงพื้นที่เชียงแสน เร่งสำรวจความเสียหายโบราณสถานสำคัญ ก่อนสรุปข้อสรุปเสนอกรมฯบูรณะใหญ่เมษาฯนี้ หลังได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวในพม่าจนเสียหายหนัก
วันนี้ (28 มี.ค.) นายตระกูล หาญทองกูล หัวหน้ากลุ่มงานอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรภาค 8 ได้รับคำสั่งจากนางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร และนายวิเศษ เพชรประดับ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรภาค 8 ให้นำคณะเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจและเก็บรายละเอียด ความเสียหายของโบราณสถานที่เสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวในพม่าตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.54 ที่ผ่านมา เพื่อนำข้อมูลความเสียหายทั้งหมดไปวิเคราะห์ดำเนินการบูรณะครั้งใหญ่ โดยได้แจ้งไปยังหน่วยงานในพื้นที่ พร้อมทั้งวัดและชุมชนไม่ให้เคลื่อนย้ายหรือซ่อมแซมใดๆ เอง เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลกระทบกระเทือนเพิ่มเติม แต่ให้กันพื้นที่เอาไว้บางส่วน
ทั้งนี้ พบว่า ที่วัดพระธาตุเจดีย์หลวง ต.เวียง อ.เชียงแสน มียอดของเจดีย์ยาวหลายเมตรล้มอยู่ที่ฐานใกล้กับเจดีย์บริเวณด้านหลังวิหารเหมือนเดิม ขณะที่ยอดของพระธาตุจอมกิตติ ก็ยังคงโน้มเอียง ซึ่งทั้งสองแห่งเป็นโบราณสถานที่ส่วนใหญ่สร้างในสมัยพระเจ้าแสนภู พระราชนัดดาของพ่อขุนเม็งมหาราชเมื่อปี พ.ศ. 1887 หรือประมาณ 667 ปีก่อน นอกจากนี้ ยังมีโบราณสถานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายแห่ง ทั้งที่พระธาตุป่าสัก พระธาตุปูเข้า ฯลฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการหลายวัน
นายตระกูลกล่าวว่า ขั้นตอนการดำเนินการบูรณะได้แบ่งออกตามลำดับคือ อันดับแรกเจ้าหน้าที่จะเข้าไปสำรวจและเก็บข้อมูลความเสียหายอย่างละเอียดทั้งหมด นอกเหนือไปจากที่พบเห็นกันโดยทั่วไป จากนั้นจะมีการตั้งเฝือกหรืออุปกรณ์ค้ำยัน กรณีที่ต้องป้องกันการพังทลายหรือเสียเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะสรุปข้อมูลทั้งหมดส่งให้กับคณะกรรมการ ซึ่งทางกรมศิลปากรได้แต่งตั้งขึ้น เพื่อบูรณะโบราณสถานหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นการเฉพาะ
คณะกรรมการจะได้นำข้อมูลไปประกอบการพิจารณา และจะมีมติ กำหนดวิธีดำเนินการ กรอบงบประมาณ การจัดหาเงินอุดหนุนแล้วแต่กรณีไป
ทั้งนี้ ตนได้รับคำสั่งให้ไปดำเนินการและนำเสนอข้อมูลทั้งหมดไปให้คณะกรรมการในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ซึ่งตนเห็นว่าสามารถทำได้ และเป็นเรื่องที่ปล่อยให้ล่าช้าไม่ได้ เนื่องจากหากโครงสร้างเสียหายหนักและมีการสั่นไหวเพิ่มเติม หรือมีสิ่งใดที่ทำให้โบราณสถานเกิดการขยับตัวก็อาจจะทำให้เกิดความเสียหายหนักกว่าเดิมได้