ตาก - รมว.อุตสาหกรรม ประกาศต่อหน้านักธุรกิจ รัฐจะขยายธุรกิจและเดินหน้า พัฒนา “นครแม่สอด” เป็นเมืองเศรษฐกิจชายแดนเต็มรูปแบบ
นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวระหว่างเปิดการประชุมนักธุรกิจในงาน “ไทยทำ ไทยใช้ อุตสาหกรรมไทยยั่งยืน” ที่ศูนย์ประชุมและส่งเสริมการท่องเที่ยวเทศบาลนครแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก ว่า รัฐบาลจะสร้าง “นครแม่สอด” ให้เป็นเมืองเศรษฐกิจ-การค้าชายแดน-การลงทุน เพื่อให้เป็นโมเดลนำร่องแห่งแรกในประเทศในการเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด” และการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแม่สอด บนเนื้อที่ 5,600 ไร่ ควบคู่
ดังนั้น นักธุรกิจและผู้ประกอบการในพื้นที่ จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในการเพิ่มมาตรฐานอุตสาหกรรมและขยายโอกาสทางธุรกิจ
“ปัจจุบันกระบวนการการผลักดัน อปท.รูปแบบพิเศษ และการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแม่สอดได้ผ่านมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไปแล้ว รอเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา ซึ่งคงใช้เวลาอีกไม่นาน” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว
สำหรับงาน “ไทยทำ ไทยใช้ อุตสาหกรรมไทยยั่งยืน” ที่จัดขึ้น ณ สนามกีฬาโรงเรียนเทศบาลวัดดอนแก้ว อ.แม่สอด จ.ตาก ระหว่าง 25-27 มี.ค.54 โดยมีข้าราชการจากกระทรวงอุตสาหกรรม จากจังหวัดตาก และประชาชนร่วมงานจำนวนมาก ซึ่งในงานจะพบกับมหกรรมสินค้า ระดับ OTOP 5 ดาว ราคาพิเศษ และขบวนคาราวานสินค้าราคาถูก จำหน่ายดาราจำนวนมากมายกว่า 50 ร้านค้า พร้อมการแสดงของดารานักแสดง นักร้อง ชื่อดัง ร่วมสร้างสีสันให้ความบันเทิงครบครัน ทั้งยังได้รับความรู้จากนิทรรศการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นโครงการของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการบูรณาการของหน่วยงานกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมในการพัฒนาผู้ประกอบการโดยทั่วไปให้มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ซึ่งในวงการของผู้ประกอบการทั่วไปจะรู้ว่าการให้ดาวกับสินค้าโอทอป มีขั้นตอนตั้งแต่ 1 ดาว ไปจนกระทั่ง 5 ดาว ถึงสูงสุด ซึ่งเมื่อได้ 5 ดาวและได้มาตรฐานอุตสาหกรรมแล้ว ก็เหมือนว่าสินค้านั้นได้รับการรับรองมาตรฐานด้านการผลิต ด้านคุณภาพ ก็จะทำให้สินค้าได้รับการยอมรับจากตลาดมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นโครงการไทยทำ ไทยใช้ อุตสาหกรรมไทยยั่งยืน จะไปให้ความรู้กับผู้ประกอบการทั่วประเทศทั้งหมด 5 ครั้ง
นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมให้ความรู้ผู้ประกอบการโดยแบ่งพื้นที่การจัดงานเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 คลินิกอุตสาหกรรม ส่วนที่ 2 การจัดสัมมนาถ่ายทอดแนวทางในการจัดเตรียมเอกสารขอการรับรอง มผช. เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ ส่วนที่ 3 กิจกรรม Business Matching ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการและผู้เข้าร่วมสัมมนา ได้พบปะเพื่อเจรจาธุรกิจร่วมกันกับนักธุรกิจจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อการเชื่อมโยงการตลาดอีกช่องทางหนึ่ง