xs
xsm
sm
md
lg

เล็งเสนอยูเนสโก ดันเชียงใหม่เป็น “เมืองสาขางานฝีมือและศิลปะพื้นบ้าน-เมืองออกแบบ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์หารือเข้มเรื่องเสนอตัวเข้าเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก ความเห็นแยกสองสาย “เมืองสาขางานฝีมือและศิลปะพื้นบ้าน-เมืองออกแบบ” ฝ่ายแรกชี้เป็นจุดเด่น-รากวัฒนธรรมเข้มแข็ง ส่วนฝ่ายหลังชี้สร้างโอกาส-ต่อยอดสู่เรื่องอื่นได้มากกว่า สุดท้ายแนวโน้มเลือกอย่างแรก หลังผวจ.แนะควรทำสิ่งที่ถนัดก่อน เห็นพ้องเร่งดำเนินการไม่ให้เรื่องนิ่ง ด้านผู้ช่วยเลขาฯคาดรอ 2-3 สัปดาห์ ผวจ.-นายกเทศมนตรีลงนามเสร็จยื่นเรื่องได้เลย

วันนี้ (18 มี.ค. 2554) คณะกรรมการพัฒนาเชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์ ได้จัดการประชุม “Unesco Creative Cities Network Discussion Meeting” ขึ้น ณ ห้องประชุมตะวัน กังวานพงศ์ สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีบุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมประชุมหารือ

การประชุมในครั้งนี้เป็นการหารือเกี่ยวกับการเสนอจังหวัดเชียงใหม่เข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์สากลของยูเนสโก ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาเชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์เห็นชอบไว้ โดยคณะกรรมการมีความเห็นว่า เชียงใหม่น่าจะมีความเหมาะสมที่จะเสนอตัวเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์สากลใน 3 สาขา ได้แก่ เมืองแห่งงานฝีมือและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Arts), เมืองแห่งการออกแบบ (Design) และเมืองแห่งสื่อศิลปะ (Media Arts) ซึ่งจะต้องทำการพิจารณาถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้ ก่อนที่จะทำการเลือกเพียงสาขาเดียว และทำการสมัครเข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกในสาขานั้นๆ ต่อไป

สำหรับเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ปัจจุบันกำหนดไว้ทั้งสิ้น 7 สาขานั้น โดยในสาขาที่เชียงใหม่เข้าข่ายเหมาะสมที่จะเสนอตัวเข้าร่วมนั้น มีสมาชิกคือ เมืองแห่งงานฝีมือและศิลปะพื้นบ้าน 4 แห่ง เมืองแห่งการออกแบบ 10 แห่ง และเมืองแห่งสื่อศิลปะอีก 1 แห่ง ซึ่งตามข้อกำหนดของยูเนสโก เมืองที่จะเสนอตัวไม่จำเป็นจะต้องมีความโดดเด่นในสาขาที่เสนอตัวก็ได้ แต่จะต้องมีแผนการที่ชัดเจนในระยะยาวว่าจะพัฒนาเมืองให้มีความเหมาะสมและก้าวหน้าสอดคล้องกับการเสนอตัวในสาขานั้นๆ อย่างไร รวมทั้งการเสนอตัวในทุกสาขา เมืองที่เสนอตัวต้องแสดงแผนงานที่จะสร้างความเชื่อมโยงไปสู่เมืองอื่นๆ ในเครือข่ายเดียวกัน

ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการแสดงความคิดเห็น ถึงการเสนอตัวเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของเชียงใหม่อย่างหลากหลาย โดยในเบื้องต้นที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า การเสนอตัวในสาขาเมืองแห่งสื่อศิลปะนั้นอาจจะไม่ได้รับประโยชน์มากนัก แม้ว่าเชียงใหม่จะมีองค์กรหรือหลักสูตรการศึกษาที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการลงทุนในเรื่องของเมืองภาพยนตร์ของเอกชนซึ่งเกี่ยวข้องกับสาขานี้ก็ตาม แต่การที่ไม่มีสถานที่ที่เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ชัดเจน และการที่สาขาสื่อศิลปะยังถือเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย จึงเห็นว่าควรเลือกเสนอตัวในสาขาเมืองแห่งงานฝีมือและศิลปะพื้นบ้าน หรือสาขาเมืองแห่งการออกแบบมากกว่า

ส่วนการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในสองสาขาที่เหลือ ที่ประชุมมีความเห็นเป็นสองแนวทาง โดยส่วนหนึ่งเห็นว่าควรเสนอตัวในสาขาเมืองแห่งงานฝีมือและศิลปะพื้นบ้าน เนื่องจากเป็นสาขาที่เชียงใหม่มีความเหมาะสมจากการเป็นเมืองที่มีรากฐานด้านศิลปวัฒนธรรมและหัตถกรรมที่เข้มแข็ง สามารถประชาสัมพันธ์ให้คนเข้ามามีส่วนร่วมได้โดยง่าย และยังมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของประเพณีวัฒนธรรมของเชียงใหม่ที่มีมายาวนาน

ขณะที่ความเห็นอีกด้านหนึ่งมองว่า การเสนอตัวในสาขาเมืองแห่งงานฝีมือและศิลปะพื้นบ้านที่มีทิศทางไปในเชิงอนุรักษ์มากกว่า แต่การเสนอตัวในสาขาเมืองแห่งการออกแบบนั้น สามารถต่อยอดไปสู่ภาคส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตงานฝีมือ การพัฒนาเมือง การท่องเที่ยวหรือเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน รวมทั้งยังสร้างภาพลักษณ์ในเชิงสร้างสรรค์ได้มากกว่า และถือเป็นหัวข้อที่น่าจะดึงดูดความสนใจของคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี

ในท้ายที่สุด แม้ที่ประชุมจะยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีความเห็นตรงกันว่า ควรจะดำเนินการเสนอจังหวัดเชียงใหม่เข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์สากลของยูเนสโก โดยที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกสาขาที่จะเสนอตัว ซึ่งยูเนสโกเคยแนะนำไว้ว่าสามารถทำได้

ขณะที่หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้แสดงความเห็นว่า ยูเนสโกน่าจะพิจารณาจากจุดเด่นของเมืองเป็นหลักมากกว่า อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่พิจารณาหาความเหมาะสมว่าสาขาใดจะก่อให้เกิดประโยชน์กับเชียงใหม่มากที่สุด ควรจะมีการดำเนินการเสนอตัวไปก่อน เพื่อให้เรื่องมีความก้าวหน้า

นายมาร์ติน เฟ็นสกี้-สตาล์ลิ่ง ที่ปรึกษาอาวุโส ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ คณะกรรมการพัฒนาเชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์กล่าวถึงการประชุมในครั้งนี้ว่า จากความเห็นของผู้ว่าราชการจังหวัด มีแนวโน้มว่าเชียงใหม่อาจจะเลือกเสนอตัวในสาขาเมืองแห่งงานฝีมือและศิลปะพื้นบ้าน แต่จะพยายามให้ความสำคัญในเรื่องของการออกแบบควบคู่ไปด้วย ไม่ใช่เน้นแต่ในเรื่องของการอนุรักษ์เพียงอย่างเดียว

ด้านขั้นตอนการดำเนินงานในขั้นตอนต่อไปนั้น นายมาร์ตินกล่าวว่า คณะทำงานจะได้เร่งเตรียมการในเรื่องของการจัดทำเอกสารสำหรับการเสนอตัว และจะประสานให้ผู้ว่าราชการและนายกเทศมนตรีได้พิจารณาและลงนามใน Letter of Intent ก่อนนำเสนอให้ยูเนสโกพิจารณาต่อไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในส่วนนี้ราว 2-3 สัปดาห์ หลังจากนั้นยูเนสโกจะทำการพิจารณา โดยในระหว่างนั้นจะมีการหารือร่วมกันเพื่อประกอบการพิจารณาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น