xs
xsm
sm
md
lg

กก.พลังงานเสนอ กฟผ.ทุ่ม 1 พันล้านแก้ปมขัดแย้งเขื่อนปากมูล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.หควณ ชูเพ็ญ กรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร และคณะลงพื้นที่สำรวจความเห็นชาวบ้านสองฝั่งน้ำมูลกรณีทางออกแก้ปัญหาเขื่อนปากมูล
อุบลราชธานี- คณะกรรมการพลังงานสภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ถามความเห็นประชาชนสองฝั่งแม่น้ำมูล เผยเสนอให้ กฟผ.ปรับตัว ทำแผนพัฒนายกระดับปากท้องประชาชนแทนที่จะมุ่งเอาไฟฟ้าอย่างเดียว เพื่อแก้ความขัดแย้งกรณีเขื่อนปากมูล คาดใช้งบพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้านสองฝั่งแม่น้ำมูลที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อน 1,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านดอนชี ต.คันไร่ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี คณะกรรมาธิการพลังงานสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงพื้นที่สำรวจความเห็นจากกลุ่มประชาชนผู้ใช้น้ำสองฝั่งแม่น้ำมูล เพื่อเก็บข้อมูลการประกอบอาชีพของประชาชนใน 3 อำเภอ คือ อ.โขงเจียม สิรินธร และพิบูลมังสาหาร โดยทั้งหมดเป็นผู้ใช้น้ำทำเกษตรกรรมในฤดูแล้ง และประกอบอาชีพประมงริมแม่น้ำ

สำหรับพื้นที่ตำบลคันไร่ มีสถานีสูบน้ำของชลประทานใช้เลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 1,800 ไร่ แบ่งเป็นข้าวนาปรัง 1,300 ไร่ ยางพารา 200 ไร่ พืชสวนอีก 300 ไร่ บ่อเลี้ยงปลากว่า 60 บ่อ แต่ในพื้นที่เดียวกันมีพื้นที่เพาะปลูกที่ต้องการน้ำเลี้ยงผลผลิตรวมกว่า 3,000 ไร่ ทำให้ยังขาดแคลนน้ำใช้อีกกว่า 1,200 ไร่

เกษตรกรในกลุ่มหลัง ในฤดูแล้ง ต้องทิ้งถิ่นไปขายแรงงานในตัวเมือง จึงเรียกร้องให้รัฐช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้ด้วย

ด้าน ดร.หควณ ชูเพ็ญ กรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการแก้ไขความขัดแย้งในพื้นที่เรื่องการปิดเขื่อนเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง หรือเปิดประตูระบายน้ำเพื่อคืนธรรมชาติให้แม่น้ำมูล เบื้องต้นจากการลงพื้นที่ทำให้ทราบปัญหาของแต่ละฝ่าย จึงเตรียมเสนอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปรับตัวแนวคิดตัวเองใหม่

โดยไม่มองแต่แผนการจัดหาไฟฟ้ามาใช้ แล้วปล่อยให้คนในพื้นที่ไม่ได้รับประโยชน์จากแผนพัฒนา จนทำให้เกิดการเรียกร้องตามมาในภายหลัง เหมือนกรณีเขื่อนปากมูล สำหรับการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ คณะกรรมาธิการจะให้ กฟผ.ทำแผนฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาล

ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาไม่ใช่การจ่ายเงินชดเชยเหมือนที่ผ่านมา แต่ควรจะสนับสนุนการสร้างโครงข่ายการประกอบอาชีพให้ประชาชนในพื้นที่ เช่น การสร้างพื้นที่ส่งน้ำไปหล่อเลี้ยงพืชในฤดูแล้ง รวมไปถึงการฟื้นฟูลุ่มน้ำ เพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพประมงริมฝั่งแม่น้ำ เมื่อประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการอย่างทั่วถึง ก็จะลดปัญหาการเรียกร้องในเรื่องต่างๆลงได้

“โดยโครงการแก้ปัญหาที่กรรมาธิการเสนอครั้งนี้ คาดว่า กฟผ.ต้องใช้เงินราว 1,000 ล้านบาท และจะเสนอแผนให้ทันในรัฐบาลชุดนี้”
ชาวบ้านลุ่มน้ำมูลอาศัยลำน้ำแห่งนี้หล่อเลี้ยงชีวิตมาหลายชั่วคน ทั้งใช้น้ำทำเกษตรกรรมและทำประมงหาสัตว์น้ำขาย
กำลังโหลดความคิดเห็น