ตาก - รมว.อุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจสอบลักลอบส่งออกน้ำตาลทราย ชายแดนแม่สอด สั่งกำชับทุกหน่วยงานป้องกันและบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ เหตุราคาฝั่งพม่าดีกว่า พบในย่างกุ้ง และมะละแหม่ง จำหน่ายมาก ชี้ ปีนี้ผลิตเพิ่มอีก 14% และเพิ่มพิเศษอีก 10 ล้านกระสอบ พอเพียงกับความต้องการตลาดในประเทศแน่
วันนี้ (6 มี.ค.) นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางมาประชุมร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดน และความมั่นคง ที่ห้องประชุมด่านศุลกากรแม่สอด เพื่อหาแนวทางป้องกันการลักลอบส่งออกน้ำตาลทรายไปยังต่างประเทศผ่านช่องทางชายแดนต่างๆ โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง-ด่านศุลกากร-พาณิชย์-สำนักงานการค้าภายใน-ทหาร-ตำรวจ ฯลฯ เข้าร่วมประชุมกว่า 30 คน
จากนั้นได้เดินทางไปดูพื้นที่จุดขนส่งสินค้าเรือเรือท่าส่งท่าที่ 2 ริมแม่น้ำแมย บ้านห้วยม่วง หมู่ 6. ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อดูการส่งออกสินค้าชายแดนไทย-พม่า และเป็นจุดที่จะต้องมีการสกัดกั้นไม่ให้มีการลักลอบส่งอกน้ำตาลทรายออกนอกประเทศ เพื่อให้ปริมาณน้ำตาลที่ผลิตออกมาตามโควตา ก.มีปริมาณเพียงพอ
รมว.อุตสาหกรรม ได้สั่งกำชับให้ทุกหน่วยงานได้บูรณาการกำลัง ทั้ง จนท.ศุลกากร-ทหาร-ตำรวจ-ตชด.ฝ่ายปกครอง จัดวางกำลัง จนท.ทุกฝ่าย เพื่อระวังตรวจสอบการลักลอบส่งออกน้ำตาลทรายไปพม่าทุกช่องทาง และให้ จนท.ได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ตอนนี้กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ดูแลรับผิดชอบการผลิตน้ำตาลทราย ได้เปิดให้เพิ่มการผลิตน้ำตาลทรายจากเดิมอีก 14% ตามโควตา ก.ที่ผลิตเพื่อใช้ในประเทศเมื่อปี 2553 จำนวน 22 ล้านกระสอบ ปี 2554 ได้ขยับขึ้นมาเป็น 25 ล้านกระสอบ และที่เหลือเป็นโควตา ค.ที่จะส่งออกต่างประเทศ แต่เชื่อว่า ปีนี้น่าจะผลิตได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้อีก 10 ล้านกระสอบ ซึ่งอาจจะเพิ่มในโควตา ก.เป็น 35 ล้านกระสอบ พอเพียงกับการใช้ในประเทศทั้งการบริโภคและการผลิตอาหารในประเทศ เท่ากับว่าคนในประเทศจะต้องกินน้ำตาลทุกคนๆละ 38 กก.ต่อปี ในจำนวน 60 ล้านคน เมื่อน้ำตาลทรายเราผลิตพอแล้วก็ต้องระวังการลักลอบส่งออก
รมว.อุตสาหกรรม บอกว่า สาเหตุที่มีการลักลอบส่งออก เพราะน้ำตาลในต่างประเทศ ทั้งพม่า เขมร-ลาว-เวียดนาม มีราคาแพงกว่าในไทยหลายเท่าตัว ยกเว้นที่มาเลเซียเท่านั้น ที่ราคาอยู่ในระดับเดียวกับของไทย จึงทำให้มีการพยายามจะลักลอบส่งออกไปขาย ซึ่งเท่าที่ทราบมานั้นในตลาดพม่า ที่ชายแดนจังหวัดเมียวดี ราคา กก.ละ 30 บาทขึ้นไป และหากในกรุงย่างกุ้ง จะมีราคาสูงถึง 46 บาท ต่อ กก.รวมถึงที่เมืองมะละแหม่งด้วย สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังอีกประการคือกองทัพมด ที่จะใช้วิธีขนที่ละน้อยๆ แต่เมื่อปริมาณคนจำนวนมากก็จะเป็นจำนวนมาก จึงต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ ช่วงเดือน ต.ค.2553-ก.พ.2554 มีการส่งออกน้ำตาลผ่านชายแดนแม่สอด เข้าพม่าไปแล้ว 780 ตัน มูลค่ากว่า 17 ล้านบาท ในส่วนของการส่งออกน้ำตาลถ่ายลำ ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.พ.54 จำนวน 150 ตัน มูลค่า 3,464,695.82 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม น้ำตาลส่งออกดังกล่าวเป็นการส่งออกที่ขออนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์