xs
xsm
sm
md
lg

“ซินโครตรอน” ทำตราจังหวัดโคราช “ทองคำ” จิ๋วสุดในโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.ประยูร ส่งสิริฤทธิกุล
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - สถาบันฯ แสงซินโครตรอน สร้างตราประจำจังหวัดนครราชสีมา จุลภาคมิติ “ทองคำ” จิ๋วสุดในโลก และจัดทำเป็นครั้งแรกของไทย เส้นผ่านศูนย์กลาง 5 มม.เล็กกว่าเหรียญบาท 4 เท่า มอบจังหวัดและจัดแสดงให้ประชาชนได้ชมอย่างใกล้ชิด ในงาน “ฉลองวันแห่งชัยชนะย่าโม” 23 มี.ค.-3 เม.ย.นี้ เผยสร้างด้วยกระบวนการเอกซเรย์ลิโธกราฟีจากเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน ลวดลายละเอียดสูง

วันนี้ (3 มี.ค.) รศ.ดร.ประยูร ส่งสิริฤทธิกุล รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ได้จัดทำตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดนครราชสีมาจุลภาคมิติ ขนาดเล็กที่สุดในโลกขึ้น และเป็นการจัดทำเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อร่วมฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี (ย่าโม) วีรสตรีของชาติไทย และในโอกาสที่สถาบันฯ ได้เข้าร่วมการจัดงานฉลองวันแห่งชัยชนะท้าวสุรนารี อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในปี 2554

ตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดนครราชสีมาจุลภาคมิติ ขนาดเล็กที่สุดในโลกนี้ สร้างด้วยกระบวนการเอกซเรย์ลิโธกราฟีจากแสงซินโครตรอน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 มิลลิเมตร (มม.) หรือ มีขนาดเล็กกว่าเหรียญบาทประมาณ 4 เท่า ลวดลายมีความละเอียดสูงในระดับ 30 ไมโครเมตร หรือ 0.03 มิลลิเมตร โครงสร้างมี 2 ชั้น ชั้นฐานวงกลมหนา 0.3 มิลลิเมตร และ ชั้นลวดลาย หนา 0.13 มิลลิเมตร โครงสร้างเป็นโพลิเมอร์เคลือบด้วยทองคำบริสุทธิ์ 99.99%

สำหรับรายละเอียดของตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ประดิษฐานอยู่หน้า ประตูชุมพลประตูเมืองทางด้านทิศตะวันตก มีขั้นตอนการจัดสร้าง 7 ขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้นที่ 1 เคลือบสารไวแสงหนา 0.3 มิลลิเมตรบนฐาน จากนั้นขั้นที่ 2 อาบแสงซินโครตรอนผ่านหน้ากากดูดซับรังสีเอ็กซ์ เพื่อสร้างฐานวงกลมของตราประจำจังหวัดนครราชสีมา, ขั้นที่ 3 ล้างสารไวแสงในสารเคมีจะปรากฏโครงสร้างฐานวงกลมหนา 0.3 มิลลิเมตรขึ้น

ขั้นที่ 4 เคลือบสารไวแสงชั้นที่ 2 บนฐานชั้นแรกด้วยความหนา 0.1 มิลลิเมตร, ขั้นที่ 5 อาบแสงซินโครตรอนผ่านหน้ากากดูดซับรังสีเอ็กซ์เพื่อถ่ายทอดลวดลายตราประจำจังหวัดนครราชสีมา, ขั้นที่ 6 ล้างสารไวแสงในสารเคมีเพื่อให้ลวดลายตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดนครราชสีมาปรากฏขึ้น และขั้นตอนสุดท้ายคือขั้นตอนที่ 7 เคลือบด้วยทองคำบริสุทธิ์ 99.99%
ตราประจำจังหวัดนครราชสีมา ทำจากทองคำขนาดเล็กที่สุดในโลก
“ปีนี้เป็นปีแรกที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เข้าร่วมการจัดงานฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารีอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นงานประจำปีของ จ.นครราชสีมา ที่มีกำหนดจัดขึ้นระหว่าง 23 มี.ค.-3 เม.ย.นี้ ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา โดยทางสถาบันฯ จะมอบตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัด ขนาดเล็กที่สุดในโลกดังกล่าวให้กับทางจังหวัดนครราชสีมาอย่างเป็นทางการในพิธีเปิดงานฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี 23 มี.ค.” รศ.ดร.ประยูร กล่าว

รศ.ดร.ประยูร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ทางสถาบันฯ ยังได้จัดบูธแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน ในงานฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี ด้วย ภายใต้ชื่อ “บ้าน...ซินโครตรอน บ้าน...แห่งการเรียนรู้” พื้นที่ 200 ตารางเมตร ซึ่งภายในแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ห้อง คือ 1.ห้องทดลอง 2.ห้องชมภาพยนตร์ 3.ห้องนั่งเล่น โดยแต่ละห้องมีกิจกรรมที่น่าสนใจให้ประชาชนได้เข้าร่วมมากมาย ประกอบด้วย

1.กลุ่มนิทรรศการแนะนำสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จะนำเสนอผลงานและความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ และที่สำคัญจะมีการแสดง “ตราประจำจังหวัดนครราชสีมาจุลภาคมิติ” ขนาดเล็กที่สุดในโลกที่จัดสร้างด้วยเทคนิค Micromachining จากห้องปฏิบัติการแสงสยาม ดังกล่าว ให้ประชาชนได้ชมและสัมผัสอย่างใกล้ชิด พร้อมนิทรรศการแนะนำห้องปฏิบัติการแสงสยาม ที่ตั้ง “เครื่องกำเนิดแสงสยาม” แห่งแรกแห่งเดียวในประเทศไทย และใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

2.กลุ่มนิทรรศการการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์เพื่อเชื่อมโยงไปสู่ความเข้าใจถึงคุณสมบัติของแสงซินโครตรอน พร้อมการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยจัดสถานีทดลองที่ใช้สื่อผสมและมีปฏิสัมพันธ์ของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ สถานีแสง การแยกแสง และการหักเห, สถานีสีของแสง, สถานีการหักเหของแสงด้วยเลนส์นูน เลนส์เว้า และสถานีจำลองการเอกซเรย์สิ่งต่างๆ รอบตัว และยังมีห้องทดลองเพื่อนักประดิษฐ์รุ่นจิ๋ว เพื่อสร้างแรงกระตุ้นด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชน, ห้องทดลองประดิษฐ์ “กล้องคาไลโดสโคป” ด้วยตนเอง, ห้องฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ขนาด 10 -15 ที่นั่ง และกิจกรรมถาม-ตอบปัญหาวิทยาศาสตร์ พร้อมรับของที่ระลึกตลอดช่วงการจัดงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น