xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการชี้เปรี้ยง! ท่องเที่ยวไทยย่ำกับที่ - เหตุตั้งสารพัดกฎ-รัฐ เอกชน เดินคนละทิศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - นักวิชาการชี้ชัดท่องเที่ยวไทยนับวันจะย่ำอยู่กับที่ เหตุต่างคนต่างทำ แถมมีสารพัดกฎระเบียบไม่รู้จักจบจักสิ้น แต่ละหน่วยงานถือกฎหมายคนละฉบับ ขณะที่มิตรประเทศรอบข้างก้าวไปไกลลิบ ทั้งที่เริ่มสตาร์ทพร้อม ๆ กัน เสนอจัดกลุ่มวางแผนพัฒนาใหม่-ปรับการขนส่งระบบรางที่เก่ายิ่งกว่าสมัย ร.5

วันนี้ (23 ก.พ.54) สถาวันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดเขตพัฒนาการท่องเที่ยวภาคเหนือ ครั้งที่ 1 ณ โรงแรมทีคการ์เด้น สปา รีสอร์ท อ.เมืองเชียงราย มีนายพินิจ หาญพาณิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิด และ รศ.ดร.ธเนศ ศรีวิชัยลำพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันฯสรุปความเป็นมาของโครงการ และ ดร.วิชุลดา มาตันบุญ หัวหน้าโครงการวิจัยรับฟังการระดมความคิดเห็น ท่ามกลางตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนใน 17 จังหวัดภาคเหนือตอนบนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

รศ.ดร.ธเนศ กล่าวว่า ประมาณ 20 ปีก่อน เกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่น ต่างเริ่มต้นพัฒนาการท่องเที่ยวพร้อมๆ กับประเทศไทย โดยภาครัฐและเอกชนมีความเป็นเอกภาพเดินไปในทิศทางเดียวกันจึงทำให้รุดหน้าไปมาก เมื่อเทียบกับไทยพบว่ายังอยู่กับที่ เพราะการพัฒนาของไทยอยู่ในสภาพต่างฝ่ายต่างทำ แม้จะรวมตัวกันบ้างแต่ก็ทำงานแบบตัวใครตัวมัน

หรือในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวในช่วง 40 ปีของ 6 ประเทศในเอเชีย เช่น ไทย มาเลเซีย ญี่ปุ่น ฯลฯ พบว่าขณะที่ประเทศอื่นไปมาก แต่ไทยยังอยู่ที่เดิมท่ามกลางความสงสัยของประเทศต่างๆ ที่มีต่อทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่มีความพร้อมกว่าของไทย ขณะที่หลายประเทศแทบไม่มีทรัพยากรใดๆ เลยแต่สามารถพัฒนาการท่องเที่ยวได้ดีกว่า

รศ.ดร.ธเนศ กล่าวอีกว่า การวิจัยครั้งนี้จึงเพื่อแก้ปัญหาเรื่องข้อกฎหมายที่สร้างขึ้นมามากมายไม่รู้จักจบสิ้น และแต่ละหน่วยงานก็ถือกฎหมายคนละฉบับ เพื่อให้การพัฒนาสะดวกและง่ายต่อการปฏิบัติ รวมทั้งพระราชบัญญัติหลายฉบับที่เป็นประโยชน์ ก็จะได้สามารถนำออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ จากนั้นจึงมีการแบ่งเขตการกำหนดเขตพัฒนาต่อไป โดยตั้งอยู่บนพื้นที่ฐานความเป็นเอกภาพ กระจายรายได้และงบประมาณไปสู่ทุกกลุ่มแทนที่จะพัฒนาเพื่อผลประโยชน์ของใครตัวมันหรือกลุ่มใครกลุ่มมันเหมือนในอดีต

"อีกประเด็นปัญหาที่มีผลต่อการท่องเที่ยวคือเรื่องการขนส่ง ผมเห็นว่าตราบใดประเทศไทยยังไม่มีรถไฟรางคู่ และต้องเป็นรถไฟฟ้าจะทำให้การท่องเที่ยวไม่คืบหน้าแน่นอน จึงหวังให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันผลักดันด้วย โดยสภาพที่เราเห็นในปัจจุบัน ผมขอยกตัวอย่างจากที่เคยไปรอรถไฟที่สถานีเชียงใหม่ ซึ่งกำหนดไปถึงสถานีเวลา 08.00 น. ปรากฏว่าไปถึงช้ากว่าถึง 2 ชั่วโมง สภาพรถก็เก่ามาก ซึ่งคิดว่าสมัยรัชกาลที่ 5 ยังใหม่กว่าเสียอีก ซึ่งถ้ามีรถไฟนอกจากจะมีประโยชน์ด้านการขนส่งสินค้าและขนส่งมวลชนแล้ว ก็จะกระจายไปสู่ภาคการท่องเที่ยวได้อย่างรวดเร็ว" รศ.ดร.ธเนศ กล่าวและว่า

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้มีการกำหนดหัวข้อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ระบุชื่อจังหวัดต่างๆ ที่จะแบ่งเป็นเขตพัฒนาเดียวกันเพื่อแบ่งเป็นกลุ่มๆ ละ 3 จังหวัด ประกอบไปด้วยหลายหัวข้อ เช่น ความโดดเด่นทรงคุณค่าทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเด่นทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม มีจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก มีการค้าชายแดนและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ฯลฯ จากนั้นมีการจัดแบ่งกลุ่มจังหวัดต่างๆ เพื่อระดมสมองเพื่อการพัฒนาต่อไป

ขณะที่ ดร.วิชุลดา กล่าวว่า โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาโดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2553-วันที่ 31 มี.ค.2554 นี้ โดยมีระยะเวลาดำเนินการคือรวบรวมและศึกษาข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้อง สัมภาษณ์เชิงลึก และทำแบบสอบถามในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อจะได้จัดส่งให้กระทรวงได้พิจารณาดำเนินการต่อไป

ด้านนายวิรุณ คำภิโล ประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวเสริมว่า ในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน มีนักท่องเที่ยวไปเยือนปีละกว่า 7-8 ล้านคน เพราะต้องการไปเที่ยวชมความหลากหลายทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและชาติพันธุ์ ซึ่งสภาพเช่นนี้คล้ายกับภาคเหนือของไทย

ดังนั้น แม้ว่าสังคมปัจจุบันจะมีความเปลี่ยนแปลงไปมากจนทำให้เรื่องชาติพันธุ์เริ่มกลมกลืนกันไป แต่เมื่อจะสร้างความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวก็ต้องนำมาพัฒนาเพื่อให้เกิดความเป็นเอกลักษณ์ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น