สุรินทร์ - 35 คู่บ่าวสาวไทย-เทศ ร่วมพิธีซัตเต แต่งงานแบบโบราณอันศักดิ์สิทธิ์ของชนพื้นเมืองชาวกูย และจดทะเบียนสมรสบนหลังช้างในวันวาเลนไทน์ ที่ศูนย์คชศึกษา อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ คึกคัก ท่ามกลางบรรยากาศเต็มไปด้วยความรัก ชื่นมื่นและความอบอุ่น
วันนี้ (14 ก.พ.) เวลา 09.30 น.จังหวัดสุรินทร์ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สุรินทร์ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานจังหวัดสุรินทร์ ได้จัดงาน “พิธีซัตเตและจดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง ประจำปี 2554” ในวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ 2554 ณ ศูนย์คชศึกษาบ้านตากลาง อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีแต่งงาน หรือ “พิธีซัตเต” แบบโบราณอันศักดิ์สิทธิ์ของชนพื้นเมืองชาวกูย คนเลี้ยงช้างสุรินทร์ที่ปฏิบัติสืบถอดกันมายาวนาน และ เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสุรินทร์
โดยในปีนี้ มีคู่บ่าวสาวทั้งหมดจำนวน 35 คู่ ทั้งที่เป็นคู่บ่าวสาวใหม่ และคู่ชีวิตที่อยู่กันมาหลายปีแต่ยังไม่เข้าพิธีแต่งงานจดทะเบียนสมรส และในจำนวนนี้เป็นคู่บ่าวสาวชาวต่างประเทศจำนวน 4 คู่ เดินทางมาเข้าร่วมพิธีซัตเตและจดทะเบียนสมรสบนหลังช้างครั้งนี้อย่างคึกคัก ซึ่งมีกิจกรรมประกอบพิธีซัตเต พิธีเรียกขวัญคู่บ่าวสาว พร้อมทั้งขบวนแห่คู่บ่าวสาว นั่งบนหลังช้าง รอบศูนย์คชศึกษา และประกอบพิธีจดทะเบียนสมรสบนหลังช้างสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของชาติไทย อย่างยิ่งใหญ่
พร้อมกันนี้ นายเสริม ไชยณรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ และ นายธงชัย มุ่งเจริญพร นายก อบจ.สุรินทร์ ได้มอบของที่ระลึก ใบทะเบียนสมรสขนาดใหญ่ แก่คู่บ่าวสาวที่เข้าร่วมงานทุกคู่ และ นายประถม ประเมินดี นายอำเภอท่าตูม เป็นนายทะเบียนราษฎร มอบทะเบียนสมรสฉบับจริงแก่คู่บ่าวสาว ทั้ง 35 คู่ ท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความรักชื่นมื่น และความอบอุ่นในวันวาเลนไทน์วันแห่งความรักปีนี้
ทั้งนี้ พิธีแต่งงานแบบชาวกวยโบราณ หรือ “พิธีซัตเต” เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของจังหวัดสุรินทร์ พิธีซัตเตจะเริ่มขึ้นเมื่อคู่หนุ่มสาวชาวกวยตกลงแต่งงานกัน และหลังจากเจ้าบ่าวมาสู่ขอเจ้าสาวจากผู้ใหญ่เป็นที่เรียบร้อยแล้วจะสร้างกระท่อมเพื่อประกอบพิธีในบริเวณลานบ้านเจ้าสาวด้วยตนเองจนเสร็จ และในวันแต่งงาน เจ้าบ่าว เจ้าสาว จะสวมชุดชาวกวยพื้นเมือง เจ้าบ่าวจะเดินทาง (หากมีช้างจะนั่งช้าง) จากบ้านตัวเองไปยังบ้านเจ้าสาว
จากนั้นพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีจะพาเจ้าสาวลงมาจากบ้านไปยังกระท่อมเพื่อประกอบพิธีกรรม เริ่มด้วยเจ้าบ่าวสวมด้ายมงคล เจ้าสาวสวมจะลอม (มงกุฎที่ทำจากใบตาล) จะมะ (แก้ว แหวน สร้อย ต่างหู หรือเครื่องประดับที่เจ้าบ่าวนำมาให้) แล้วเริ่มตรวจนับสินสอดเครื่องประกอบต่างๆ จากนั้นพราหมณ์เริ่มพิธีบายศรีสู่ขวัญตามแบบชาวกวย พิธีถอดกระดูกคางไก่เสี่ยงทายชีวิตคู่ แล้วผูกข้อมือ และญาติผู้ใหญ่ เพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าวาว อวยพรให้คู่บ่าวสาวตามลำดับจนเสร็จ สุดท้ายเจ้าบ่าวเจ้าสาวนั่งช้างเดินทางไปยังวังทะลุ (บริเวณที่ลำน้ำมูลและลำน้ำชีไหลมาบรรจบกัน) เพื่อบอกกล่าวเจ้าที่ให้รับทราบถึงการครองคู่สามีภรรยา ถือเป็นการเสร็จสิ้นพิธี