xs
xsm
sm
md
lg

สุรินทร์จัดสมรสหมู่จดทะเบียนบนหลังช้าง “วันวาเลนไทน์” 14 ก.พ.ยิ่งใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

งานพิธีสมรสหมู่แบบชาวกวยโบราณ และจดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง 14 กุมภาฯ  วันวาเลนไทน์ ของจังหวัดสุรินทร์ปีที่ผ่านมา
สุรินทร์- เมืองช้าง ร่วม อบจ.และ ททท.จัดงาน “สมรสหมู่และจดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง” ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทยใน“วันวาเลนไทน์” 14 ก.พ.นี้ ที่ ศูนย์คชศึกษาบ้านตากลาง อ.ท่าตูม เผย “พิธีซัตเต” แบบชาวกวยโบราณอันศักดิ์สิทธิ์ เพิ่มความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตคู่

วันนี้ (13 ก.พ.) นางสาวบุณยานุช วรรณยิ่ง ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุรินทร์ เปิดเผย ว่า จังหวัดสุรินทร์ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)สุรินทร์ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้กำหนดจัดงาน “พิธีสมรสหมู่และจดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง ประจำปี 2554” ในวันวาเลนไทน์ 14 ก.พ.นี้ ณ ศูนย์คชศึกษาบ้านตากลาง อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีการแต่งงานของชนพื้นเมืองสุรินทร์และส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสุรินทร์

นางสาว บุณยานุช กล่าวต่อว่า พิธีแต่งงานแบบชาวกวยโบราณ หรือ “พิธีซัตเต” เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของจังหวัดสุรินทร์ จะเริ่มเมื่อคู่หนุ่มสาวชาวกวยตกลงแต่งงานกัน หลังจากเจ้าบ่าวมาสู่ขอเจ้าสาวจากผู้ใหญ่เป็นที่เรียบร้อยแล้วจะเริ่มสร้างกระท่อมเพื่อประกอบพิธีในบริเวณลานบ้านเจ้าสาวด้วยตนเองจนเสร็จ และในวันแต่งงาน เจ้าบ่าว เจ้าสาว จะสวมชุดชาวกวยพื้นเมือง เจ้าบ่าวจะเดินทาง (หากมีช้างจะนั่งช้าง) จากบ้านตนเองไปบ้านเจ้าสาว

จากนั้นพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีจะพาเจ้าสาวลงมาจากบ้านไปยังกระท่อมเพื่อประกอบพิธีกรรม เริ่มด้วยเจ้าบ่าวสวมด้ายมงคล เจ้าสาวสวมจะลอม (มงกุฎที่ทำจากใบตาล) จะมะ (แก้ว แหวน สร้อย ต่างหู หรือเครื่องประดับที่เจ้าบ่าวนำมาให้) แล้วเริ่มตรวจนับสินสอดเครื่องประกอบต่าง ๆ จากนั้นพราหมณ์จะเริ่มพิธีบายศรีสู่ขวัญตามแบบชาวกวย พิธีถอดกระดูกคางไก่เสี่ยงทายชีวิตคู่ แล้วผูกข้อมือ และ ญาติผู้ใหญ่ เพื่อน อวยพรให้คู่บ่าวสาวตามลำดับจนเสร็จ สุดท้ายเจ้าบ่าวเจ้าสาวนั่งช้างเดินทางไปยังวังทะลุ (บริเวณที่ลำน้ำมูลและลำน้ำชีไหลมาบรรจบกัน) เพื่อบอกกล่าวเจ้าที่ให้รับทราบถึงการครองคู่สามีภรรยาจึงถือเป็นการเสร็จสิ้นพิธี

ททท.จึงขอเชิญชวนคู่รักที่แต่งงานแล้ว หรือกำลังวางแผนแต่งงาน ร่วมกันสร้างสรรค์ประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตรักที่เรียบง่ายแต่มีมนต์ขลัง สมัครเข้าร่วมพิธีสมรสหมู่และจดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง ซึ่งเป็นสัตว์คู่บ้านเมือง และเป็นสัญลักษณ์ของชาติไทย ช่วยเสริมความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิตของคู่บ่าวสาวท่ามกลางบรรยากาศพิธีแต่งงานแบบชาวกวย ได้แก่ ขบวนช้างแห่เจ้าบ่าว พิธีบายศรีสู่ขวัญอันศักดิ์สิทธิ์และพิธีแต่งงานแบบชาวกวย

พร้อมร่วมบันทึกภาพประวัติศาสตร์การจดทะเบียนสมรสบนหลังช้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และงานเลี้ยงรับรองอาหารกลางวันแก่คู่สมรสพร้อมรับของที่ระลึกจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ยกเว้นค่าใช้จ่ายเฉพาะการแต่งกายของคู่บ่าวสาวเท่านั้น

“ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2554 ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์และที่ว่าการอำเภอทุกแห่งในจังหวัดสุรินทร์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานสุรินทร์” นางสาวบุณยานุช กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น