xs
xsm
sm
md
lg

เปิดผลวิจัยโรงไฟฟ้าชีวมวลอุบลฯชี้ “ได้ไม่คุ้มเสีย” สวล.พัง-ศก.ชุมชนพินาศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นับแต่ปลายปี 2551 เป็นต้นมาชาวบ้านตำบลท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี รวมกันต้านโรงไฟฟ้าทางเลือกใหม่ ซึ่งใช้แกลบเป็นพลังงานสร้างความร้อน ผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
อุบลราชธานี -นักวิชาการมูลนิธินโยบายสุขภาวะเปิดผลศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากโครงการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ใช้แกลบเป็นพลังงานของ บริษัท บัวสมหมายฯ หลังเกิดกระแสต่อต้านหนักจากชาวชุมชนท้องถิ่น ผลศึกษาระบุชัด ทันทีที่โรงไฟฟ้าเกิด สิ่งแวดล้อมพัง แหล่งอาหารธรรมชาติหาย เศรษฐกิจชุมชนถูกทำลาย แม้มีตัวเลขรายได้หมุนเวียนในชุมชน 12 ล้านบาท/ปี เป็นตัวล่อ แต่หักลบแล้วได้ไม่คุ้มเสีย

หลังชาวบ้านตำบลท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี รวมกันต้านโรงไฟฟ้าทางเลือกใหม่ ซึ่งใช้แกลบเป็นพลังงานสร้างความร้อน ผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตั้งแต่ปลายปี 2551 เป็นต้นมา ทำให้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้เป็นข้อสรุปประกอบการตัดสินใจว่า “เอาหรือไม่เอา” โรงไฟฟ้าชีวมวลเจ้าปัญหารายนี้

นักวิชาการจากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ นำโดย นายศุภกิจ นันทะวรการ และนักวิจัยชุมชนอีก 3 คน ได้เริ่มทำการวิจัยศึกษาการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ กรณีโรงไฟฟ้าชีวมวล (ใช้แกลบเป็นพลังงาน) ของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด ระหว่างเดือน พ.ย.2553-ม.ค.2554 และได้เสนอต่อคณะทำงานชี้แจงข้อมูล และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา

ผลการศึกษาวิจัยด้านสังคม วิจัยโดย นายบุญโฮม วงศ์สีกุล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 บ้านใหม่สารภี ระบุว่ามีชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบโรงไฟฟ้าในรัศมี 2 กิโลเมตร จำนวน 546 ครัวเรือน มีประชากรรวมกัน 2,257 คน มีความเป็นพี่น้องเครือญาติกันสูง ที่ผ่านมาต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกันพัฒนาหมู่บ้าน และมีหน่วยงานราชการอยู่ในพื้นที่ 4 แห่ง วัด 3 แห่ง โรงเรียน 1 แห่ง

แต่ผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ คือ คนในชุมชนเกิดความรำคาญเสียง ซึ่งเกิดจากการขุดบ่อน้ำในเนื้อที่ 15 ไร่ และการถมที่ที่จะใช้ก่อสร้างโรงไฟฟ้า สุขภาพจิตชาวบ้านเสีย เกิดความเครียด เพราะเริ่มมีความขัดแย้งในชุมชน ส่งผลให้การพัฒนาภายในชุมชนไม่มีความร่วมมือต่อกัน คนชราและเด็กไม่มีความสุข เพราะผู้ใหญ่ทะเลาะกัน

กลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบด้านสุขภาพคือ เด็กและผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคหอบหืด ส่วนคนอีก 586 คน ซึ่งพักอยู่ในเส้นทางใช้สัญจรเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เพราะถนนใช้เข้าออกโรงไฟฟ้าที่ผ่านหมู่บ้านมีขนาดเล็ก ซึ่งยังไม่รวมถึงกลุ่มวัยทำงานจากหมู่บ้านที่ใช้ถนนเส้นนี้สัญจรเช่นกัน

ขณะที่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจในชุมชน ซึ่งวิจัยโดยนายรุ่งทวี คำแข็ง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 12 บ้านคำนกเปล้า และ นายคูณมิ่ง อนุชาติ พบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ผลผลิตสำคัญได้แก่ มะม่วงหิมพาน ข้าว ปอ และมันสำปะหลัง สร้างรายได้ให้พื้นที่ปีละ 32,899,500 บาท ด้านการเลี้ยงสัตว์ มีการเลี้ยงไก่ไข่จำนวน 39 โรงเรือน และวัว ควายตามไร่นา รวมมีรายได้จากการเลี้ยงสัตว์ราว 260 ล้านบาทต่อปี และยังมีรายได้ที่ไม่ได้คิดเป็นตัวเงินคือ การจับสัตว์ตามแหล่งธรรมชาติตลอดปี เช่น ไข่มดแดง ปูนา ปลา หอย กบ หนู และแมลงที่สามารถนำไปบริโภคเป็นอาหารได้เป็นต้น

ทั้งนี้ หากมีการสร้างโรงไฟฟ้า จะได้รับผลกระทบจากเสียง-ฝุ่นละออง รวมทั้งการใช้น้ำ จะทำให้ผลผลิตของชาวบ้านลดลงราว 5% ต่อปี คิดเป็นรายได้ที่หายไปประมาณ 14.6 ล้านบาทต่อปี โดยกลุ่มเสี่ยงจะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กลุ่มเลี้ยงไก่ไข่ ที่มีกำลังผลิต 5,000-22,000 ตัวต่อโรง เพราะเมื่อเกิดผลกระทบบริษัทผู้ผลิตไม่ส่งไก่มาให้เลี้ยงอีก จะทำให้สูญเสียอาชีพและมีหนี้สินที่เกิดจากการลงทุนไม่น้อยกว่า 70 ล้านบาท

ตรงกันข้ามหากโครงการโรงไฟฟ้าเริ่มดำเนินการ ชุมชนจะมีรายได้ประมาณ 12 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมาจากแหล่งรายได้ 4 ประเภท คือ 1.กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ขายเต็มกำลังคือ 9 เมกะวัตต์ คิดเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ 78,840,000 หน่วยต่อปี ทำให้มีเงินเข้ากองทุนประมาณ 788,400 บาทต่อปี 2.บริษัทจะแบ่งรายได้จากการขายไฟฟ้า 1% แก่ชุมชน ถ้าบริษัทขายไฟได้ประมาณ 60 ล้านบาทต่อปี ชุมชนจะมีรายได้ 600,000 บาทต่อปี

3.องค์การบริหารส่วนตำบลท่าช้าง จะได้รับเงินจากภาษีโรงเรือน ที่ดิน และเครื่องจักรร้อยละ 12.5 ของเงินได้ คิดเป็นเงินที่ได้จากการจัดเก็บภาษีประมาณ 7.5 ล้านบาทต่อปี และ 4.คนในชุมชนบางส่วนจะมีรายได้จากการจ้างแรงงาน และการค้าขายภายในชุมชน เมื่อคิดอัตราค้างจ้างแรงงานขั้นต่ำจากจำนวนคนราว 50 คน ชุมชนจะมีรายได้จากค่าจ้างประมาณ 3,120,750 บาทต่อปี

เมื่อนำรายรับมาหักลบกับรายได้ของชุมชนก่อนมีโรงไฟฟ้า เงินที่ชุมชนจะต้องสูญเสียไปกว่า 2 ล้านบาท/ปี

ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งนำเสนอโดย นายทองคับ มาดาสิทธิ อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 12 บ้านคำนกเปล้า ยังพบอีกว่า ชุมชนตั้งอยู่ในร่องฝนตกชุก ทำให้สภาพพื้นที่ป่าของชุมชนมีสภาพเป็นป่าเต็งรัง และบริเวณริมห้วยเป็นป่าดิบแล้ง มีพรรณพืชหายาก เช่น หม้อข้าวหม้อแกงลิง ที่พบในบริเวณคำเสือหล่มในบ้านคำสร้างไชย เป็นพืชชนิดพื้นราบ ชอบน้ำสะอาด แสงมาก (ไม่ใช่แดดจัด) ชอบชื้นไม่ชอบแฉะ อากาศไหลเวียนดี

สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ได้ขึ้นบัญชีอนุรักษ์ตามอนุสัญญาไซเตส หากมีการเข้ามาบุกรุกพื้นที่ในรูปแบบต่างๆ พืชหม้อข้าวหม้อแกงลิง ก็มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์

ส่วนด้านทรัพยากรน้ำ ปัจจุบันรอบชุมชนมีสายน้ำอยู่ 4 สาย คือ ห้วยคำนกเปล้า ห้วยคำเสือเต้น วังปอแดง ห้วยหมาก โดยเกิดจากเขตป่าที่ยังอุดมสมบูรณ์ของชุมชน ทำให้มีน้ำผิวดินหรือแหล่งซับน้ำจำนวน 25 จุด และน้ำทั้งหมดคือต้นทุนน้ำที่ไหลไปรวมกันในแม่น้ำมูล ด้านพันธุ์สัตว์ของสายน้ำทั้ง 4 สาย มีทั้งสัตว์น้ำ สัตว์บก และสัตว์ปีก เช่น กุ้ง หอย ปู ปลาหมอ ปลากัด ปลาไหล นกเอี้ยง นกกะปูด เหยี่ยว กระรอก กระแต ค่าง กิ้งก่าบ้าน ซึ่งสัตว์ทั้งหมดใช้ประโยชน์จากลำน้ำทั้ง 4 สายร่วมกัน

ทั้งนี้ หากมีการสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว จะเกิดการแย่งน้ำจากการขุดบ่อน้ำขนาดใหญ่ เพื่อใช้ในโรงงานประมาณวันละ 1,300 ลูกบาศก์เมตร หรือราว 460,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี แม้ว่าขณะนี้ บ่อน้ำที่โรงงานกำลังทำการขุดยังไม่เสร็จสิ้นดี ก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำซับในหมู่บ้านไหลไปรวมกันในบ่อของโรงไฟฟ้าแล้ว เพราะบ่อมีความกว้างและลึกกว่าน้ำซับของหมู่บ้าน ทำให้คุ้มคำหัวงัวในบ้านคำสร้างไชย น้ำเริ่มไหลค่อยลงส่วนผลระยะยาวเชื่อว่า ชาวบ้านต้องขาดแคลนน้ำใช้ในการทำเกษตรกรรม และน้ำเพื่อการบริโภค

ทั้งหมด คือ ผลการวิจัยของกลุ่มนักวิจัยชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตบริเวณโรงไฟฟ้าที่กำลังจะถูกสร้างขึ้นในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี และอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของชุมชนขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น