xs
xsm
sm
md
lg

อบจ.หนองคายขุดบ่อน้ำโขงแก้แล้ง นำร่องช่วยพื้นที่เกษตร 2 อำเภอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หนองคาย- องค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย นำรถแบ็กโฮขุดบ่อน้ำซึมในแม่น้ำโขง แก้ปัญหาภัยแล้งน้ำโขงลดระดับ ช่วยให้เกษตรกรชาวสวนมีน้ำใช้รดพืชผักก่อนผลผลิตเสียหาย นำร่องพื้นที่เกษตร 700 ไร่ ใน 2 อำเภอ

เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (21 ม.ค.) นายยุทธนา ศรีตะบุตร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย (อบจ.) นำคณะออกตรวจติดตามการดำเนินการแก้ปัญหาภัยแล้ง บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง บ้านศิลาเลข หมู่ 7 ต.โพนสา อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย

ทั้งนี้ ปรากฏว่า ระดับน้ำโขงในบริเวณ ต.โพนสา และ ต.เวียงคุก อ.เมืองหนองคาย ลดระดับลดลง ประกอบกับมีสันดอนเป็นเกาะกลางแม่น้ำโขง น้ำโขงฝั่งที่ติดกับจังหวัดหนองคายปริมาณน้ำแทบจะไม่เหลือจนเกิดผืนทรายกว้างใหญ่ เกษตรกรชาวสวนริมฝั่งโขงที่ปลูกใบยาสูบ มะเขือเทศ พริก และข้าวโพด บ้านศิลาเลข บ้านท่ามะเฟือง ต.โพนสา อ.ท่าบ่อ บ้านเวียงคุก ต.เวียงคุก อ.เมืองหนองคาย จำนวน 400 ราย พื้นที่การเกษตรประมาณ 700 ไร่ เริ่มได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนใบยาสูบ ซึ่งใกล้จะได้เก็บเกี่ยวผลผลิต ใบยาสูบเริ่มแห้งเหี่ยว ใบเหลือง หากปล่อยไว้นานจะเกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก

นายยุทธนา ศรีตะบุตร นายก อบจ.หนองคาย กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ คาดว่า จะเกิดขึ้นรวดเร็ว และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อปีที่ผ่านมา อบจ.ได้รับการร้องขอความช่วยเหลือจากเกษตรกรชาวสวนริมฝั่งโขง ที่ไม่สามารถนำน้ำจากแม่น้ำโขงมาใช้ประโยชน์ได้

อบจ.หนองคาย จึงได้นำรถแบ็กโฮมาขุดบ่อน้ำซึมในแม่น้ำโขง จำนวน 20 บ่อ ขนาด 10 x 10 เมตร ลึก 4 เมตร เกษตรกรใช้เครื่องสูบน้ำต่อท่อนำน้ำขึ้นมาสู่แปลงเกษตร และปีนี้ได้นำรถแบ็กโฮมาขุดบ่อซึมน้ำโขงให้เกษตรกรเร็วกว่าปีที่แล้ว จำนวน 20 บ่อ เท่าเดิม

อย่างไรก็ตาม หากไม่เพียงพอก็สามารถขุดเพิ่มเติมให้เกษตรกรได้ ซึ่งเกษตรกรจะมีน้ำใช้ในการเกษตรต่อเนื่องไปจนกว่าจะถึงฤดูฝน และยังสามารถป้องกันความเสียหายหากพืชเศรษฐกิจเหล่านี้ไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ ซึ่งประเมินมูลค่าได้ถึง 21 ล้านบาท หรือประมาณไร่ละ 30,000 บาท

ด้านนางบังอร ปัญสวัสดิ์ เกษตรกรชาวสวนใบยาสูบ บอกว่า ก่อนหน้านี้ ในช่วงหน้าแล้ง เกษตรกรจะพากันต่อท่อเครื่องสูบน้ำขึ้นมาใช้ แต่ระยะหลังน้ำโขงลดระดับลงมากผิดปกติจนเกือบถึงเกาะดอนกลางแม่น้ำโขง เกษตรกรไม่สามารถต่อท่อสูบน้ำมาใช้ได้อีก ใบยาสูบ หากไม่ได้รับน้ำที่เพียงพอใบยาก็จะแห้ง ซึ่งจะไม่สามารถนำใบยาเหี่ยวแห้งเหล่านั้นมาบ่มได้ ทำให้เกษตรกรเสี่ยงต่อการขาดทุน

การขุดบ่อน้ำโขงให้ในครั้งนี้ เกษตรกรทุกคนจะผลัดเปลี่ยนกันจัดเวรสูบน้ำมาใช้ให้เป็นระบบและทุกคนจะได้ใช้น้ำอย่างทั่วถึงกัน จะช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

กำลังโหลดความคิดเห็น