ตาก - จังหวัดตาก เดินหน้าปั้นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแม่สอด ตัวแทนภาคเอกชน-อปท.หนุนเต็มสูบ คาดใช้เวลา 3-5 ปีวางระบบโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อดันมูลค่าค้าชายแดนไทย-พม่าเพิ่มขึ้น 10 เท่า จากปีละกว่า 2 -3 หมื่นล้าน มีสิทธิ์เพิ่มเป็นนับแสนล้านต่อปี
รายงานข่าวจากจังหวัดตาก แจ้งว่า ขณะนี้นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดเตรียมพื้นที่เพื่อใช้เป็นพื้นที่พัฒนาในการรองรับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแม่สอด ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552 และ 19 ตุลาคม 2553 โดยมีนายกิตติศักดิ์ โตมรศักดิ์ นายอำเภอแม่สอด เป็นประธาน และตัวแทนหน่วยงานรัฐ-เอกชนเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย
เพื่อวางแผนใช้พื้นที่ประมาณ 5,600 ไร่ เขต ต.แม่ปะ-บ้านวังตะเคียน ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ก่อสร้างอาคารคลังสินค้า-ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ One Stop Service-อาคารพาณิชย์ และแนวถนนรองรับการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 โดยคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวจะมีหน้าที่สำรวจและหาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจ ก่อนที่จะเสนอต่อนายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเสนอของบประมาณพัฒนาและเร่งกฎหมายจัดตั้งเขตเศรษฐกิจแม่สอดต่อไป
ด้านนายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด นับเป็นเรื่องที่ดี และจะเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ-การค้า-การลงทุน ตามแนวชายแดนมากยิ่งขึ้น เกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ ที่สอดคล้องกับการยกฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)รูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด” ซึ่งทางหอการค้าจังหวัดตากในฐานะภาคเอกชน พร้อมให้ความร่วมมือในการวางขอบเขตของแผนแม่บทเสนอให้แก่ภาครัฐอย่างเหมาะสม เพราะในพื้นที่กว่า 5,600 ไร่ จำเป็นต้องมีการกำหนดโซนให้ชัดเจน
สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ภาครัฐคงจะต้องเป็นผู้ลงทุนระบบสาธารณูปโภคครบวงจร เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถเข้าไปบริหารจัดการได้ต่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่คณะกรรมการ จะเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญทั้งด้านของโครงสร้าง และงบประมาณการลงทุน หรือแม้แต่ในส่วนของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็ต้องเข้ามาเป็นตัวหลักในการวางขอบเขตของนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่แห่งนี้ด้วย
ประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ไปอีก 3-5 ปี โครงสร้างของระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานน่าจะต้องแล้วเสร็จ เพื่อให้เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่เท่านั้น ยังมีผลต่อเนื่องไปยังมูลค่าการค้าชายแดนไทย-พม่า ผ่านด่านแม่สอด-เมียวดี ที่มีอยู่ปีละ 20,000-30,000 ล้านบาท ในช่วงเหตุการณ์ปกติ อนาคตน่าจะขยายตัวเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 10 เท่า
ขณะที่นายเทอดเกียรติ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีนครแม่สอด กล่าวว่า การผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแม่สอด จะควบคู่กับการยกฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด” ซึ่งจะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชายแดนแม่สอด และส่งเสริมมูลค่าการค้าชายแดนให้สูงขึ้นจากเดิมปีละ 20,000-30,000 ล้านบาท เป็นปีละนับ 100,000 ล้านบาท รวมทั้งการขยายการลงทุนเพราะนักธุรกิจเกิดความมั่นใจมากขึ้นและในอนาคต “นครแม่สอด” จะเป็นท้องถิ่นพิเศษ ที่เป็นเมืองเศรษฐกิจหมายเลข 1 ของประเทศและเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่อไป