ตาก- ปธ.สภาอุตสาหกรรมตาก ชี้ปี 2554 ทุนใหญ่ทั้งไทย-เทศ เล็งเข้าลงทุนในพื้นที่ชายแดนแม่สอดเพิ่มขึ้น หลังเขตเศรษฐกิจชายแดนฯคืบหน้า
นายชัยยุทธ เสณีตันติกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก กล่าวว่า ตั้งแต่ในช่วง กลางปี 2553 หลังพม่าปิดด่านแม่สอด-เมียวดี ทำให้การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมสะดุดลงพอสมควร อย่างไรก็ดีในช่วงต้นปี 2553 ก่อนพม่าปิดด่าน ก็ได้มีนักธุรกิจได้เข้ามาลงทุนภาคโรงงานอุตสาหกรรม โดยเปิดโรงงานประเภทต่างๆหลายแห่ง โดยส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก
ส่วนโรงงานขนาดใหญ่ที่จะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก เท่าที่ทราบนักลงทุนกำลังรอดูท่าที รวมทั้งความชัดเจนของการผลักดันให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแม่สอด-การยกฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)รูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด” และการจัดตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรม ในเขตเศรษฐกิจชายแดน
“ขณะนี้บริษัทใหญ่ๆ ที่มีแผนจะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ชายแดนแม่สอด อย่างน้อย 2-3 บริษัท เช่น สหพัฒน์-ซีพี และบริษัทที่ผลิตสินค้าเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ จากประเทศญี่ปุ่นหรือเกาหลี อย่างน้อย 2-3 แห่ง ก็มีแผนจะเข้ามาลงทุนที่แม่สอดหากมีการประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจดังกล่าว”
นอกจากนี้ หลังพม่ามีการประชุมรัฐสภาและมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ที่มาจากการเลือกตั้ง ก็จะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนตามแนวชายแดน ประกอบกับตอนนี้นางอองซานซูจี ผู้นำภาคประชาชนของพม่าก็ได้ประกาศ ให้นักธุรกิจทั่วโลกเข้าไปลงทุนในพม่า จึงบ่งบอกได้ว่าแนวโน้มการพัฒนาการเมืองและการพัฒนาเศรษฐกิจในพม่าจะดีขึ้น จึงส่งผลดีที่เชื่อมโยงและต่อเนื่องมาถึงชายแดนแม่สอดที่อยู่ติดต่อกับพม่าด้วย
นายชัยยุทธ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันในจ.ตาก มีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมด 570 แห่ง อยู่ในพื้นที่ชายแดนเกือบ 300 แห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่นครแม่สอด กว่า 280 แห่ง และอยู่ในพื้นที่เขตเมืองตากประมาณ 100 แห่ง เชื่อว่าในปี 2554 เป็นต้นไป จะเกิดโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ๆที่มีการผลิตสินค้าแตกต่างจากที่เคยมีมาอีกหลายแห่ง ในพื้นที่ชายแดนแม่สอด เช่น โรงงานอุตสาหกรรมที่จะรองรับภาคการเกษตร -เทคโนโลยี เพราะมีนักธุรกิจให้ความสนใจจำนวนมาก โดยจะเห็นได้ว่าในช่วงเริ่มต้นของปี 2554 เริ่มมีการติดต่อเข้ามาลงทุนแล้วหลายราย