ลำปาง - ผู้นำ อบต.5 แห่ง นำชาวบ้าน 5 ตำบลของแม่เมาะ ปิดถนนยื่นข้อเรียกร้องจังหวัดให้จัดสรรงบกองทุนรอบโรงไฟฟ้าให้ อบต.ดูแล พร้อมให้ตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการกองทุนฯ อ้างที่ผ่านมาชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม
วันนี้ (28 ม.ค.) แกนนำซึ่งประกอบด้วย นายสุนทร ใจแก้ว นายก อบต.สบป้าด ตลอดจนนายกเทศบาลแม่เมาะ, นายก อบต.นาสัก, นายก อบต.จางเหนือ และ นายก อบต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ได้นำชาวบ้านจาก 5 ตำบลในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ กว่า 1 พันคน ใช้ผ้าโพกศีรษะสีขาว ตั้งเวทีพร้อมทั้งนำเต็นท์มากางเพื่อปิดถนนทางเข้าอำเภอแม่เมาะ และนำโรงศพสีขาว มีข้อความเขียนชื่อ กรรมการบริหารกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า อำเภอแม่เมาะ มาวางไว้บนเวที ทำให้ผู้ใช้เส้นทางดังกล่าวต้องเลี่ยงไปใช้เส้นทางด้านหลังที่ว่าการอำเภอแม่เมาะแทน
โดยแกนนำได้ผลัดเปลี่ยนขึ้นเวทีกล่าวโจมตีการทำงานของคณะกรรมการกองทุนฯ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเงินกองทุน ว่า ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ กฟผ.แม่เมาะ และมีงบประมาณที่ใช้ชื่อว่า กองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ซึ่งในแต่ละแห่งที่มีการผลิตไฟฟ้า จะมีกองทุนนี้ขึ้นเพื่อที่จะชดเชยดูแลชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ปีละไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท อ.แม่เมาะ และจังหวัดลำปาง ก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีเงินดังกล่าวด้วย แต่ที่ผ่านมา ทางชาวบ้านในพื้นที่ยังไม่ได้รับการดูแลจากเงินกองทุนนี้เท่าที่ควร ส่วนเจ้าหน้าที่นำเงินกองทุนไปเที่ยวต่างประเทศ
พวกเขาจึงได้รวมตัวกันมาเรียกร้องสอบถามการบริหารงบประมาณ ที่มีมาให้กว่า 4 ปี รวมงบประมาณกว่า 1 พันล้าน ที่ยังไม่ชัดเจน
นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า คณะกรรมการบริหารกองทุน นำงบกองทุนไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ และในวันนี้จะได้มีการยื่นข้อเรียกร้องถึงผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง โดยเนื้อหาโดยรวม คือ ขอให้มีการจัดสรรงบประมาณ ออกเป็น 6 ส่วน คือ 1.ส่วนให้อำเภอแม่เมาะเป็นผู้ดูแล และอีก 5 ส่วนให้ทาง อบต.แต่ละแห่งเป็นผู้ดูแล และขอให้เข้าไปตรวจสอบการบริหารเงินกองทุนของคณะกรรมการกองทุนฯชุดที่ผ่านมา พร้อมกับจะส่งเรื่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและนายกรัฐมนตรี ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมดที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเงินกองทุนด้วย
กระทั่งบ่ายวันเดียวกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง จะเดินทางเข้ามารับหนังสือด้วยตนเองที่เวทีชุมนุม
ด้าน นายเฉลิมวุฒิ รักขัติวงศ์ นายอำเภอแม่เมาะ ได้กล่าวว่า การออกมาเรียกร้องของชาวบ้านในครั้งนี้ เกินอำนาจของอำเภอ หรือของจังหวัด เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการเรียกร้องในครั้งนี้ คือ ผู้นำท้องถิ่น (อบต.) ต้องการเป็นผู้บริหารงบประมาณทั้งหมดเอง แต่ว่าเงินกองทุนที่ดำเนินการที่ผ่านมา ปิดตัวไปแล้วและขณะนี้ กำลังอยู่ระหว่างการออกร่างระเบียบใหม่ ซึ่งพื้นที่ที่มีการตั้งกองทุน ต้องปฏิบัติเหมือนกันทั้งหมด ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับส่วนกลาง
ส่วนข้อเรียกร้องที่จะให้มีการตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการกองทุนฯชุดเดิมที่ปฏิบัติงานผ่านมา โดยอ้างว่าไม่โปร่งใสนั้นก็สามารถทำได้ เพราะทางกองทุนสามารถชี้แจงรายละเอียดได้ และที่สำคัญ ที่ผ่านมา โครงการต่างๆ ก่อนจะมีการอนุมัติต้องผ่านคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ ก่อน ซึ่ง นายก อบต.ที่ออกมาเรียกร้องในวันนี้ ก็เป็นอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการด้วย จะอ้างว่า กองทุนอนุมัติเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์โดยที่ตนเองไม่ทราบ คงเป็นไปไม่ได้
ขณะที่ นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ แกนนำเครือข่ายผู้ป่วย แม่เมาะ กล่าวว่า ต้องมองเป็นสองส่วน คือ ส่วนแรกชาวบ้านที่ออกมาร้องเรียน คือ คนที่ไม่ได้รับประโยชน์จริงๆ ก็มี เนื่องจากที่ผ่านมางบประมาณไปตกอยู่กับแกนนำบางคนจนไม่มาถึงชาวบ้านก็สมควรที่ออกมาประกาศให้สังคมได้รับรู้ว่ากองทุนฯดังกล่าวมีความไม่โปร่งใสอยู่ ผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้รับรู้และช่วยกันแก้ไข
ส่วนที่สองหากการเรียกร้องดังกล่าวของแกนนำ เนื่องจากเรื่องผลประโยชน์ ตนไม่เห็นด้วย เนื่องจากไม่อยากให้ชาวบ้านเป็นเครื่องมือเพื่อต่อรองผลประโยชน์ให้กับบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งในความเห็นของตนอยากให้ส่วนกลางดึงงบดังกล่าวกลับไปไว้ที่ส่วนกลางทั้งหมด หากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ
อย่างเช่น กลุ่มของตนซึ่งได้รับกระทบโดยตรงด้านสุขภาพ ก็ให้ส่วนกลางพิจารณาช่วยเหลือได้ทันที โดยไม่ต้องนำงบประมาณเข้ามาวางไว้ในพื้นที่ เพราะจะมีแต่การแสวงหาผลประโยชน์จากเงินจำนวนนี้จนเกิดความแตกแยกขึ้นในกลุ่มชาวบ้านเหมือนปัจจุบัน