xs
xsm
sm
md
lg

“ก.พาณิชย์-กรมอุทยานฯ” ติวเข้มผู้ค้า “งาช้าง” ดำเนินการใต้กรอบ กม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายยุทธนา วิริยะกิตติ รองผู้ว่าฯสุรินทร์ ประธานเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดทำและการตรวจสอบบัญชีสำหรับการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับงาช้าง ที่ จ.สุรินทร์ วันนี้ ( 27 ม.ค.)
สุรินทร์ - ก.พาณิชย์-กรมอุทยานฯ ร่วมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ติวเข้มการจัดทำ และการตรวจสอบบัญชีสำหรับการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับงาช้าง เพื่อคุมเข้มผู้ประกอบธุรกิจค้างาช้างที่มีแหล่งที่มาชัดเจนให้ดำเนินการภายใต้กรอบ กม.อย่างถูกต้อง ห้ามลักลอบขายให้ชาวต่างชาติ และส่งออกงาช้างไปต่างประเทศ

วันนี้ (27 ม.ค.) ที่ โรงแรมสุรินทร์มาเจสติก อ.เมือง จ.สุรินทร์ นายยุทธนา วิริยะกิตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การจัดทำและการตรวจสอบบัญชีสำหรับการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับงาช้าง การสาธิตการใช้แบบฟอร์มบันทึกข้อมูลการค้าตัวอย่างชนิดพันธุ์ช้าง และการจำแนกงาช้าง” ซึ่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพรรณพืช กับ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันจัดขึ้น

โดยมีกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับงาช้างและการค้างาช้าง ใน จ.สุรินทร์ และ จ.บุรีรัมย์ เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ กว่า 100 คน

กระทรวงพาณิชย์ และประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับงาช้างต้องจัดทำบัญชีสินค้า ขณะที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพรรณพืช ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กร TRAFFIC Southeast Asia ให้จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับงาช้าง ในพื้นที่ จ.สุรินทร์ และ จ.บุรีรัมย์ สามารถจัดทำบัญชีผลิตภัณฑ์งาช้างได้อย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับความร่วมมือในการรณรงค์หยุดการลักลอบค้างาช้าง และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างระหว่างจังหวัดสุรินทร์ ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับงาช้างและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง

ในพื้นที่ จ.สุรินทร์ และ บุรีรัมย์ นับเป็น 2 จังหวัดของประเทศไทย ที่มีการเลี้ยงช้างบ้านเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ จ.สุรินทร์ มีการเลี้ยงช้างบ้านกว่า 290 เชือก และมีเจ้าของช้างได้ตัดงาช้าง เพื่อจำหน่าย ทั้งที่เป็นงายังไม่แปรรูป และงาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ภายใต้กรอบกฎหมาย เกี่ยวกับการค้างาช้างที่มีแหล่งที่มา เป็นช้างเลี้ยงอย่างชัดเจน โดยห้ามจำหน่ายแก่ชาวต่างชาติ หรือลักลอบส่งออกนอกประเทศ เพราะเป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงระหว่างประเทศตามอนุสัญญา CITES









กำลังโหลดความคิดเห็น