นครปฐม - คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม จัดเสวนาแลกเปลี่ยนแนวคิด “บริบทการบริหารงานภาครัฐ การเมือง การศึกษา สังคมต่อการปรับตัวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนปี 2558”
วันนี้ (17 ม.ค.) ผศ.สมเดช นิลพันธุ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม เป็นประธานพิธีเปิดโครงการรัฐประศาสนศาสตร์วิชาการ เนื่องในโอกาสครบรอบ 13 ปี ของการจัดตั้งโปรแกรมวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ณ ห้อง SC101 อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์
โดยการจัดโครงการดังกล่าวเป็นการบริการทางวิชาการแก่องค์กรและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการและการปกครองท้องถิ่น แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างผู้เข้าร่วมสัมมนา และเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนแก่นักศึกษาและบุคคลทั่วไป
โดยได้จัดให้มีการสัมมนา ซึ่งมีการเสวนา เรื่อง บริบทการบริหารงานภาครัฐ การเมือง การศึกษา สังคมต่อการปรับตัวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนปี พ.ศ.2558 โดยมีอาจารย์ ดร.ชอบวิทย์ ลับไพรี อดีตรองเลขาธิการสำนักงานวิจัยแห่งชาติ อาจารย์ ดร.ยิ่ง กีรติบูรณะ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระพัฒนา และประธานนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทยอาจารย์ ดร.วัฒนา อัคคพานิช อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ร่วมเป็นวิทยากรกับคณาจารย์ของโปรแกรมวิชาฯ
อาจารย์ ดร.มนูญ จันทร์สมบูรณ์ ประธานโปรแกรมวิชารัฐประศาสนศาสตร์ เผยว่า โปรแกรมวิชารัฐประศาสนศาสตร์ แต่เดิมเป็นภาควิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ สังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เริ่มก่อตั้งเป็นโปรแกรมวิชารัฐประศาสนศาสตร์ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2541 จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 13 ปี ได้ผลิตบัณฑิตออกไปรับใช้สังคม ประเทศชาติแล้วประมาณหนึ่งพันกว่าคน ซึ่งทางโปรแกรมวิชาฯ ได้เสริมสร้างคุณลักษณะบัณฑิตที่เหมาะสมและพร้อมต่อการรับใช้สังคม
ได้แก่ การจัดสัมมนาวิชาการ กิจกรรมการบริการวิชาการ, กิจกรรมเสริมสร้างภาวะผู้นำ, กิจกรรมด้านคุณธรรมจริยธรรม กิจกรรมด้านนันทนาการ ฯลฯ
ปัจจุบันมีบัณฑิตที่ประสบความสำเร็จในอาชีพสามารถเข้าไปทำงานกับภาครัฐและภาคเอกชนมากมาย อาทิ หัวหน้าสำนักงานปลัดอำเภอ, สำนักงานที่ดิน, สำนักงานขนส่ง, เสมียนตราอำเภอ, ตำรวจ, ทหาร, หัวหน้างานธนาคาร, ผู้จัดการร้าน หรือประกอบอาชีพอิสระ เป็นต้น นับเป็น 13 ปี แห่งการพัฒนา
โดยหลังจากนี้ จะพัฒนาบัณฑิตป้อนสู่ชุมชนอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องพัฒนาความรู้สู่สังคมอาเซียน และต้องเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีทักษะในด้านภาษา และคอมพิวเตอร์ควบคู่ไปกับวิชาการทางรัฐประศาสนศาสตร์ และมีความรู้ความเข้าใจในการวางแนวทางในการศึกษาด้านการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม รวมถึงเรื่องต่างๆ ที่เหมาะสมกับสังคมไทยและวางแนวคิดในการพัฒนาสู่การเรียนรู้และร่วมกันในสังคมประเทศเพื่อนบ้านในระดับอาเซียน เพื่อให้เห็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแต่ละประเทศร่วมกัน ซึ่งในอนาคตจะมีการร่วมมือติดต่อสื่อสารกันมากขึ้นอีกด้วย