อุบลราชธานี- ม.อุบลฯ ลงนามบันทึกร่วม มหาวิทยาลัยมายากูชิ และบริษัท อิวาตะเคมีคอล ประเทศญี่ปุ่น พัฒนายีสต์สายพันธุ์ใหม่ใช้ผลิตเอทานอลได้ในอุณหภูมิความร้อนสูง ส่งผลให้อุตสาหกรรมผลิตยา อาหาร เชื้อเพลิง มีวัตถุดิบราคาถูกใช้ผลิตมากกว่าปัจจุบัน
เมื่อเร็วๆ นี้ รศ.ดร.นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พร้อมคณะวิจัยคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยยามากูชิ และบริษัท อิวาตะเคมีคอล ประเทศญี่ปุ่น ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงการค้นพบยีสต์ทนร้อนใช้ผลิตเป็นเอทานอลได้ในอุณหภูมิสูง
ยีสต์ตัวใหม่ที่ค้นพบอยู่ในกลุ่มของ “คูเวโรมันซีท มาร์ซิอานัส” (Yeast Kluyveromyces marxianus) ส่วนยีสต์ที่มีใช้อยู่ในโลกปัจจุบัน เป็นยีสต์ในกลุ่ม “แซคคาโรมัยสีท ซีรีไวซิอี” (Saccharomyces cerevisiae) ยีสต์ตัวหลังมีคุณสมบัติทนความร้อนต่ำ ทำให้การใช้ยีสต์ผลิตเอทานอลมีค่าใช้จ่ายสูง และสิ้นเปลืองพลังงานมาก เพราะต้องทำการหล่อเย็นถังหมักในกระบวนการผลิตตลอดเวลา
สำหรับยีสต์สายพันธุ์ใหม่ที่ค้นพบครั้งนี้ มีคุณสมบัติสามารถทนความร้อนสูง ทำให้ลดต้นทุนการใช้พลังงานหล่อเย็นในกระบวนการผลิตลงได้ราว 10% และได้เอทานอลจากกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้นจากปกติอีก 2-3% การค้นพบยีสต์ตัวใหม่นี้ จึงส่งผลให้ราคาเอทานอลในอนาคตถูกกว่าปัจจุบัน
ส่วนการนำเอทานอลไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ทั้งในอุตสาหกรรมผลิตยาเวชภัณฑ์ พลังงานเชื้อเพลิง และเครื่องดื่มที่ต้องใช้แอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม สินค้าประเภทนี้ก็จะมีราคาถูกลงไปตามกระบวนการผลิตเอทานอลสายพันธุ์ใหม่
การลงนามความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานครั้งนี้ จะทำการวิจัย เพื่อพัฒนายีสต์กลุ่มที่ค้นพบใหม่ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างสูงสุด และนำไปสู่การจดสิทธิบัตรขั้นตอนของกระบวนการใช้ยีสต์สายพันธุ์ใหม่ผลิตเอทานอลต่อไป