ศูนย์ข่าวศรีราชา - เทศบาลนครแหลมฉบัง วางมาตรการคุมเข้ม ผู้ประกอบการ ซาเล้ง สั่งติดบัตรประจำตัว หากพบไม่มีบัตร จับกุมดำเนินคดีทันที หลังพบมีการก่อเหตุขโมยทรัพย์ของหน่วยงานราชการ-ชาวบ้าน
วันนี้ (13 ม.ค.54) ที่ห้องประชุมชั้น 4 เทศบาลนครแหลมฉบัง นางจินดา ถนอมรอด นายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง พร้อมคณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม เพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ ผู้ประกอบการซาเล้ง ให้เข้มงวดขึ้น หลังที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านและจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงปัญหาและผลกระทบจากผู้ประกอบการซาเล้งที่สร้างปัญหา กรณี มีการขโมยทรัพย์สินของทางราชการ เช่น ฝาท่อระบายน้ำ , มิเตอร์น้ำประปา หรือทรัพย์สินของประชาชน ดังนั้นจึงต้องวางมาตรการคุ้มเข้ม เพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น
นางจินดา กล่าวถึง การวางมาตรการเข้มงวดในครั้งนี้ คือ ผู้ประกอบการซาเล้งทุกคน จะต้องติดบัตรประจำตัวทุกคน ,จะต้องมีเสื้อสัญญาลักษณ์ของเทศบาลที่กำหนดไว้ ,ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของเทศบาล กรณี ช่วงระยะเวลาที่สามารถเก็บขยะได้ 3 เวลา คือ 1. ตั้งแต่เวลา 8.30 น.ถึง 11.00 น. , 2. เวลา 13.00 น. ถึง 15.30 น. และ 18.00 น.ถึง 24.00 น. โดยหากไปเก็บขยะนอกเหนือเวลาที่กำหนด จะถูกเจ้าหน้าที่เทศกิจจับกุมดำเนินคดีในทันที
“ขณะนี้เทศบาลนครแหลมฉบัง ได้ยกฐานะแล้ว ดังนั้น มาตรการและกฎระเบียบต่างๆจะต้องเข้มงวดขึ้น เพื่อความสะอาด ,สะดวก และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ ดังนั้นหากใครกระทำไม่ถูกต้องหรือผิดระเบียบที่วางไว้ โดยจะต้องถูกดำเนินคดีโดยเด็ดขาด เพราะไม่เช่นนั้น ปัญหาก็จะมีเพิ่มมากขึ้น และไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาให้หมดไปได้” นางจินดา กล่าว
นางจินดา กล่าวว่า ในความเป็นจริงแล้ว การมารื้อหรือคุ้ยขยะในถังของเทศบาลฯหรือตามแหล่งสาธารณะนั้นไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากผิด พ.ร.บ.สาธารณสุข แต่เนื่องจากเป็นนโยบายของคณะผู้บริหาร ที่เห็นว่าเป็นการกระทำโดยสุจริตและไม่ได้ไปเบียดเบียนใคร แต่เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบโดยเคร่งครัด และไม่สร้างปัญหาต่อผู้อื่น เช่น ไปรื้อขยะหรือคุ้ยขยะ จนทำให้เศษขยะที่ไม่ต้องการตกเกลื่อนพื้นที่ สร้างความสกปรกดูแล้วไม่สะอาดตา ซึ่งเรื่องนี้ถ้าพบเห็นก็จะถูกดำเนินคดีเช่นกัน
ด้านนายบุญช่วย เที่ยงตรง ผู้ประกอบการซาเล้ง กล่าวว่า ตนมีอาชีพเก็บของเก่ามานานหลายปีแล้ว ซึ่งตนก็ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เทศบาลฯกำหนดโดยเคร่งครัด แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น มีกลุ่มผู้ประกอบการซาเล้งที่ไม่ได้ลงทะเบียนหรือกลุ่มซาเล้งที่ไม่ดี โดยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ทางเทศบาลกำหนดไว้ จึงส่งผลกระทบสร้างความเสียหายต่อกลุ่มซาเล้งที่ขึ้นทะเบียนกับเทศบาลฯ
“ในความเป็นจริงแล้ว ทางผู้ประกอบการซาเล้งที่ขึ้นทะเบียนและทำถูกต้องตามระเบียบนั้น ต้องการให้ทางเทศบาลฯหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ดำเนินการอย่างจริงจังกับผู้ประกอบการที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือกลุ่มนอกรีดนอกรอย อย่างจริงจัง เพราะหากดำเนินการกับกลุ่มนั้นอย่างจริงจัง ทางพวกตนก็พร้อมให้การสนับสนุนและนำผู้ที่กระทำผิดมาลงโทษ เพื่อให้ผู้ประกอบการซาเล้งส่วนใหญ่สามารถทำอาชีพนี้ได้อย่างสยาบใจและไม่สร้างปัญหา” นายบุญช่วย กล่าว
นายบุญช่วย กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กลุ่มผู้ประกอบการซาเล้ง มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยมีกระทำที่ถูกต้องตามระเบียบและไม่ถูกต้อง ประมาณ 100 กว่าราย ทำให้รายได้ในปัจจุบันลดน้อยลงไปมาก เหลือเพียง 100-200 บาทต่อวัน แต่เมื่อในช่วง 3 ปีที่ผ่านมายังมีรายได้ประมาณ 400-500 บาทต่อวัน นอกจากนั้นตามหอพักและบ้านเรือนจะไม่ทิ้งขยะที่สามารถขายได้ โดยรวบรวมไว้และจะมีคนมารับซื้อถึงบ้าน จึงทำให้รายได้หายไปเช่นกัน