xs
xsm
sm
md
lg

ชี้โปรแกรมทัวร์ปีใหม่ “มาร์ค” ย่ำคราบน้ำตาเหยื่อแคดเมียมลุ่มน้ำแม่ตาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภาคเหนือ - เผยโปรแกรมทัวร์ปีใหม่ครอบครัว “มาร์ค” 4 วัน 3 คืน บนแผ่นดินชายแดนตาก ล้วนเหยียบย่ำคราบน้ำตา “เหยื่อแคดเมียม” หลังเข้าพักในบ้านพักรับรองของ “ตากไมนิ่ง” 1 ใน 2 เหมืองแร่สังกะสี ที่ถูกชาวบ้านลุ่มน้ำแม่ตาวกว่า 2 พันคน ยื่นฟ้องอยู่ในขณะนี้

รายงานข่าวจากจังหวัดตาก แจ้งว่า โปรแกรมทัวร์พักผ่อนช่วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2554 ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และครอบครัว ที่ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่ 31 ธ.ค.53 มุ่งหน้าไปที่ อ.แม่สอด จ.ตาก รวมเวลา 4 วัน 3 คืน จนถึงวันที่ 3 ม.ค.54 เกิดขึ้นในห้วงที่ 7 คนไทย อันหมายรวมถึง ส.ส.ลูกพรรคของนายกฯ เองด้วย ถูกทหารกัมพูชาจับกุมไปกุมขังไว้ที่กรุงพนมเปญแบบข้ามปี ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือนั้น ปรากฏว่า นายอภิสิทธิ์ พร้อมครอบครัว และคณะ เลือกเข้าพักค้างคืนที่บ้านพักรับรองของบริษัท ตากไมนิ่ง จำกัด ที่บ้านแม่ตาวใหม่ ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก

สถานที่ดังกล่าวเป็นบ้านพักรับรองภายในเหมืองแร่สังกะสี บริษัท ตากไมนิ่ง จำกัด 1 ใน 2 บริษัทเหมืองแร่ ที่กำลังถูกชาวบ้านลุ่มน้ำแม่ตาว 3 ตำบล รวมกว่า 2,000 คน ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองพิษณุโลก และศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เรียกร้องค่าเสียหาย พร้อมกับบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด ฐานปล่อยให้สารแคดเมียมออกมาปนเปื้อนในลำน้ำแม่ตาว ที่เป็นแหล่งน้ำที่ชาวบ้านเคยใช้ทำนาข้าวหอมมะลิ จนก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพชาวบ้าน ตลอดจนวิถีการดำเนินชีวิตของชาวบ้านชุมชนลุ่มน้ำแม่ตาว ที่อยู่อาศัยกันมานานกว่า 140 ปี

กรณีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองพิษณุโลกนั้น ชาวบ้าน 3 ตำบล คือ ต.พระธาตุผาแดง, ต.แม่กุ และ ต.แม่ตาว อ.แม่สอด ได้มอบอำนาจให้สภาทนายความ ยื่นฟ้องเมื่อ 11 ธ.ค.2552 ที่ผ่านมา โดยยื่นฟ้องต่อ 6 หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง คือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, คณะกรรมการควบคุมมลพิษ, คณะกรรมการพัฒนาที่ดิน, รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดีกรมอุสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

ระบุในสำนวนฟ้องว่า หน่วยงานรัฐดังกล่าวละเลยต่อหน้าที่ อนุญาตให้เหมืองแร่ทั้ง 2 รายดำเนินการจนก่อให้เกิดสารปนเปื้อนในน้ำแม่ตาว ตลอดจนลำห้วยต่างๆ ที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ชาวบ้านใช้ในการดำรงชีวิตมาหลายชั่วอายุคน รวมถึงนาข้าวหอมมะลิที่ขึ้นชื่อแห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งเคยให้ผลผลิตปีละ 7,000-8,000 ตัน เคยทำรายได้เข้าชุมชนไม่น้อยกว่า 60-120 ล้านบาทต่อปี ต้องถูกทำลายลงไปอย่างย่อยยับ รวมไปถึงชาวบ้านในพื้นที่มีสารปนเปื้อนในเลือดเกินมาตรฐานที่กำหนด

จึงยื่นฟ้องเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกาศให้พื้นที่ทั้ง 3 ตำบล (ต.พระธาตุผาแดง, ต.แม่ตาว, ต.แม่กุ) ทั้งหมด เป็นเขตพื้นที่คุ้มครอง สวล.ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 มาตรา 43 พร้อมกับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจ่ายค่าชดเชย ค่าเสียโอกาสในการปลูกข้าวและพืชผักไม้ผลอื่นให้กับชาวบ้านทั้งหมด ในอัตราไร่ละ 15,000 บาท/ปี นับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นไป จนกว่าปัญหาแคดเมียมปนเปื้อนในพื้นที่นาข้าว-พืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านจะหมดไป

พร้อมกันนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับชุมชน จัดทำแผนปฏิบัติการ-งบประมาณป้องกันหรือแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษ หรือสารพิษแคดเมียม หรือมลพิษอื่นๆ ในพื้นที่ทั้ง 3 ตำบล เสนอต่อคณะกรรมการ สวล.ตลอดจนให้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาควบคุมการใช้ที่ดินบริเวณที่มีการให้ประทานบัตรเหมืองแร่สังกะสีและแร่อื่นๆ ในเขต 3 ตำบลทั้งหมด และให้บริษัทเหมืองแร่ ทำการฟื้นฟูปรับปรุงดินให้คืนสภาพเดิม รวมถึงเพิกถอนใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประทานบัตรเหมืองแร่ต่างๆ ในพื้นที่ต้นน้ำแม่ตาว แม่กุ และลำน้ำสาขาทุกประทานบัตร, ให้ตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมขึ้นใน 3 ตำบล ชุมชนละ 100 ล้านบาท รวมเป็น 300 ล้านบาท นับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาเป็นต้นไป

ส่วนคดีแพ่งที่ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ได้แยกออกเป็น 6 กลุ่มๆ ละ 200-300 คน เพื่อให้ทีมทนายความดูแลได้อย่างทั่วถึง ยื่นฟ้องบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด และบริษัท ตากไมนิ่ง จำกัด ที่ครอบครองพื้นที่ประทานบัตรทำเหมืองแร่สังกะสี และโรงแต่งแร่สังกะสี ในพื้นที่ใกล้เคียงกันและเป็นเขตต้นน้ำของลำน้ำแม่ตาว ลำห้วยแม่กุ รวมทั้งลำห้วยสาขาย่อยอีกหลายสาย นอกจากนี้พื้นที่บางส่วนอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นหนึ่ง

การดำเนินการของบริษัทเหมืองแร่ดังกล่าว ทั้งการเปิดหน้าดิน ขุด เจาะ ระเบิด ขนย้าย เก็บกอง เปลี่ยนขนาดและสภาพของกองดิน และหินที่มีแร่สังกะสี มีสารพิษแคดเมียม แพร่กระจายลงสู่ลำห้วยต่างๆ ดังกล่าว ก่อนกระจายไปสู่พื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านที่ยื่นฟ้อง เมื่อชาวบ้านนำน้ำ-ผลผลิตที่ใช้น้ำที่ปนเปื้อนมาบริโภค จึงทำให้เกิดการสะสมในร่างกายอย่างยาวนาน เสี่ยงต่อการเกิดไตวาย โลหิตจาง กระดูกพรุน

จึงยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อให้บริษัทเหมืองแร่ทั้ง 2 ราย ชดใช้ค่าเสียหายให้ชาวบ้าน พร้อมทั้งฟื้นฟูลำห้วยต่างๆ ให้คืนสู่สภาพเดิม เพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนที่ได้รับผลกระทบสามารถยังประโยชน์ได้ตามปกติ พร้อมทั้งหมดจ่ายเงินบริษัทละ 50 ล้านบาทเข้ากองทุนประกันความเสี่ยงและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ก่อตั้งขึ้น รวมทั้งจ่ายเงินสมทบในอัตรา 3% ต่อปีของรายได้สุทธิ จนกว่าจะหยุดประกอบกิจการ

ทั้งนี้กรณีพิพาททั้ง 2 คดี กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอยู่ จนถึงขณะนี้ โดยที่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทั้ง 3 ตำบลกำลังเฝ้ารอการเยียวยาอยู่จนถึงทุกวันนี้ รวมถึงวันที่นายกฯมาร์ค และครอบครัว เดินทางมาพักค้างคืนที่ “เหมืองตากไมนิ่ง” ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นี้ด้วย

นาข้าวที่มีสารปนเปื้อนแคดเมียมต้องถูกทำลายทิ้ง (ภาพจาก http://www.greenworld.or.th)
กำลังโหลดความคิดเห็น