xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ ตากหนุนภูมิปัญญาชาวบ้านสู้แล้งจัดงบสร้าง “ฝายใต้ทราย” ดักน้ำให้ชาวบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตาก - พ่อเมืองตากปิ๊งไอเดียหนุนงบสร้างฝายใต้ทรายตามภูมิปัญญาชาวบ้าน ฝายละ 30,000-100,000 บาท ช่วยภัยแล้งได้ผลเกินคาด

รายงานข่าวจากจังหวัดตากแจ้งว่า นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาภัยจังหวัดตาก ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางไปตรวจสถานการณ์ภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ ที่ตำบลโป่งแดง อ.เมือง จ.ตาก ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ตำบลที่ประสบภัยพิบัติภัยแล้งซ้ำซาก เมื่อเร็วๆ นี้ และพบว่าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่กว่า 3 อ่างน้ำแห้งขอดจนดินใต้อ่างแตกระแหง ส่งผลให้ชาวบ้านในหลายหมู่บ้าน อาทิ หมู่ 4 หมู่ 7 หมู่ 12 และพื้นที่ใกล้เคียงต่างประสบขาดแหล่งน้ำในการอุปโภคบริโภค

รวมทั้งน้ำเพื่อให้สัตว์เลี้ยง เช่น วัว ทำให้ต้องซื้อน้ำให้วัวกิน แม้ว่าทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จะนำน้ำไปแจกจ่ายก็ยังไม่เพียงพอเพราะ อบต.แต่ละแห่งมีรถน้ำเพียงแค่คันเดียว ทำให้การช่วยเหลือประชาชนไม่ทันต่อสถานการณ์ในแต่ละวัน

นายสามารถกล่าวว่า ขณะนี้ฝ่ายปกครองจังหวัดตากได้สนับสนุนงบประมาณเข้าไปในพื้นที่ประสบภัยแล้งเพื่อใช้ในการสร้างฝายใต้ทรายแกนดินเหนียว ซึ่งได้ทดลองก่อสร้าง และศึกษาผลสัมฤทธิ์แล้ว มีส่วนช่วยการปลูกพืชสวนองุ่น มะนาว ไร่พริก ในเขต ต.ป่ามะม่วง ต.แม่ท้อ อ.เมือง จ.ตาก มีน้ำใช้เพื่อการเกษตรได้ตลอด

การสร้างฝายใต้ทราย ถือว่าเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในเขต อ.เมืองตาก จ.ตาก ที่สร้างฝายด้วยแกนดินเหนียว เป็นแกนกลางกั้นน้ำใต้ดิน ขณะที่พื้นที่ใต้ดินเป็นหินแกรนิตที่น้ำไม่สามารถซึมลึกไหลลงดิน เมื่อก่อสร้างฝายใต้ทราย และมีการกั้นกระสอบถุงปุ๋ย ใช้หินเรียงอยู่ด้านบน จะสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้ตลอดปี นับเป็นการใช้งบประมาณในการสร้างฝายที่น้อย ผนวกเข้ากับภูมิปัญญาชาวบ้านภูมิปัญญาท้องถิ่นในการแก้ไขภัยแล้งได้ผลเกินคาดและคุ้มค่าอย่างยิ่ง

ผู้ว่ราชการจังหวัดตาก บอกว่า ในงบประมาณปี 2553 จะขยายให้ครอบคลุมครบ 10 ตำบลในเขต อ.เมืองตาก และขยายไปในพื้นที่ 4 อำเภอโซนตะวันออกของตาก ประกอบด้วย อำเภอเมือง บ้านตาก วังเจ้า และ อ.สามเงา ให้ครบทุกหมู่บ้านแล้งรุนแรงซ้ำซาก โดยใช้งบประมาณก่อสร้างแห่งละ 30,000-100,000 บาท ซึ่งดีกว่าการสร้างฝายโครงสร้างเสริมเหล็ก (คสล.) และฝายถุงปุ๋ย ฝายแม้ว ที่ใช้งานได้เฉพาะฤดูฝนในแต่ละปีเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น