ศรีสะเกษ - จังหวัดศรีสะเกษ ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้งครอบคลุม 22 อำเภอทั่วทั้งจังหวัด ปชช.เดือดร้อนกว่า 2,400 หมู่บ้าน ลำน้ำสายสำคัญอยู่ในระดับวิกฤต ขณะข้าวนาปรังนอกเขตชลประทานได้รับผลกระทบหนัก ล่าสุด ผู้ตรวจฯ สำนักนายกฯ เป็นตัวแทน “นายกฯ” รุดลงตรวจพื้นที่ เผย “มาร์ค” ห่วงชาวอีสานประสบปัญหาเดือดร้อนจากภัยแล้งหนัก
วันนี้ (26 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่ จ.ศรีสะเกษ ได้เริ่มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยระดับน้ำในแหล่งน้ำและลำน้ำสายสำคัญ เช่น ลำห้วยทับทัน, ห้วยสำราญ, ห้วยขะยูง อยู่ในระดับวิกฤต และทาง จ.ศรีสะเกษ ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินกรณีภัยแล้ง ครอบคลุมทั้งจังหวัด 22 อำเภอแล้ว เพื่อให้สามารถดำเนินการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้อย่างทันท่วงที
ล่าสุด นายกมล สุขสมบูรณ์ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตัวแทน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาประชุมร่วมกับ นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยแล้งรวมทั้งผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนของ จ.ศรีสะเกษ
นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้รับรายงานต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้ จ.ศรีสะเกษ มีหมู่บ้านประสบภัยแล้งกว่า 2,400 หมู่บ้าน หรือประมาณร้อยละ 88 ของจำนวนหมู่บ้านทั้งจังหวัด ขณะที่แหล่งน้ำสำคัญทั้ง 16 แห่งของจังหวัด มีปริมาณน้ำที่ระดับกักเก็บเฉลี่ยเพียงร้อยละ 50 ของความจุ เท่านั้น
ส่วนการช่วยเหลือประชาชนประสบภัยแล้งที่ผ่านมา ได้แจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคแล้วกว่า 2.8 ล้านลิตร และในปีนี้เกษตรกรในพื้นที่ได้ปลูกข้าวนาปรังเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว รวมประมาณ 1 แสนไร่ โดยในจำนวนนี้ร่วม 6 หมื่นไร่ เป็นพื้นที่ทำนาปรังนอกเขตชลประทานและเขตสูบน้ำด้วยไฟฟ้า จึงทำให้ต้นข้าวได้รับความเสียหาย
จากนั้น นายกมล สุขสมบูรณ์ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปตรวจพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งที่ บ้านโพธิ์ ต.โพธิ์ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นพื้นที่ทำนาปรังกว่า 2,000 ไร่ และกำลังได้รับความเสียหาย ขณะที่ทาง จ.ศรีสะเกษ ได้นำเครื่องสูบน้ำมาช่วยเหลือพื้นที่ทำนาปรังดังกล่าว
นายกมล สุขสมบูรณ์ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเป็นผู้แทนของนายกรัฐมนตรีที่มีความห่วงใยต่อปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ประสบปัญหาวิกฤติภัยแล้ง ซึ่งปีนี้รุนแรงและยาวนานกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้รัฐบาลได้วางแนวทางการแก้ไขเป็น 2 ระยะ คือ การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าในปีนี้และการแก้ไขปัญหาให้เกิดความต่อเนื่องโดยจะใช้จ่ายเงินงบโครงการไทยเข้มแข็ง เพื่อดำเนินการให้มีความรวดเร็วขึ้น
“จากการลงตรวจพื้นที่ครั้งนี้ พบว่า จ.ศรีสะเกษ เป็นเขตพื้นที่พิเศษที่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมและภัยแล้ง เช่น พื้นที่ฝายราษีไศล อ.ราษีไศล ที่มักประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่เป็นประจำจึงไม่สามารถทำข้าวนาปีได้ แต่เมื่อทำนาปรังก็ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง จึงจำเป็นต้องมีแหล่งน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรในพื้นที่ทำนา” นายกมล กล่าว