xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัย มข.ศึกษาปมน้ำโขงแห้ง - ชี้เตรียมรับวิกฤตต่อเนื่องอีก 3 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หนองคาย - นักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นลงพื้นที่หนองคาย หาข้อมูลทำวิจัยเหตุใดน้ำโขงแห้งจนเกิดวิกฤต คาด 1 เดือน ทราบสาเหตุแน่ชัดพร้อมหาทางแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว แนะประชาชนเตรียมรับมือความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ระบุมีแนวโน้มน้ำโขงลดจนวิกฤติต่อเนื่องอีก 3 ปี


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น (RDI) ได้นำคณะนักวิจัย นักวิชาการของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้าหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ภัยแล้ง โดยเฉพาะการลดระดับลงอย่างรวดเร็วของแม่น้ำโขง

หลังจากนั้นคณะนักวิจัยได้ศึกษาพื้นที่จริง บริเวณท่าเรือหายโศก เขตเทศบาลเมืองหนองคาย และริมฝั่งแม่น้ำโขง ใกล้กับส่วนอุทกวิทยาหนองคาย

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ กล่าวว่า พื้นที่ภาคอีสานส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำของแม่น้ำโขง ซึ่งยึดโยงการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงเป็นหลัก เมื่อแม่น้ำโขงเกิดลดระดับลงอย่างรวดเร็วมากกว่าทุกปี จนเข้าขั้นวิกฤต ทำให้เกิดผลกระทบในหลายมิติทั้งต่อวิถีชีวิตประชาชน เกษตรกร และสิ่งแวดล้อม ซึ่งคณะนักวิจั ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงมีแนวทางในการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนในแถบลุ่มน้ำโขง

รวมถึงชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อเป็นฐานข้อมูลความรู้ที่จะใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหารวมถึงการรับมือกับวิกฤติการณ์ของแม่น้ำโขงที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งหากสภาพแม่น้ำโขงยังมีปริมาณต่ำเช่นนี้ แนวโน้มว่ามีจะความซ้ำซากของปริมาณน้ำโขงที่ลดต่ำลงต่อเนื่องต่อไปอีก 2-3 ปี ประชาชนริมฝั่งโขงจึงต้องเตรียมตัวปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การทำเกษตรริมฝั่งโขง เป็นต้น

สำหรับการวิจัยในครั้งนี้จะดำเนินการ 2 ระยะ กล่าวคือ ระยะแรกเป็นการดำเนินการแบบเร่งด่วน ทำการศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้น และพยายามอธิบายว่าแม่น้ำโขงแห้งลงด้วยสาเหตุใด ภายในระยะเวลา 30 วัน นักวิจัย นักวิชาการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และประชาชนที่สนใจจะร่วมกันดำเนินการค้นหาคำตอบ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการแก้ปัญหาในระยะสั้น

ส่วนระยะที่สอง คณะวิจัยจะทำการศึกษาปัญหาระยะยาว เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงในระยะยาว นักวิจัยเลือกพื้นที่จังหวัดหนองคาย, เลย, นครพนม โดยเน้นพื้นที่ที่เป็นปากแม่น้ำเป็นหลัก ซึ่งเมื่อนักวิจัยได้สรุปผลการวิจัยภายใน 30 วัน จะได้ร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาในระยะสั้นและระยะยาวร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น