xs
xsm
sm
md
lg

ก.ทรัพย์ ปลุกสำนึกรักษ์น้ำ-วอนคนตากยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงดูแลป่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตาก- “22 มีนาคม-วันน้ำโลก” ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตาก วอนประชาชนงดทำลายป่ารักษาต้นน้ำ พร้อมดำเนิน 3 มาตรการดูแลและส่งเสริมประชาชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง


นายปัญญารัตน์ รังศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดตาก กล่าวว่า ในวันที่ 22 มีนาคมของทุกปี จะเป็นวันน้ำโลก หรือ เวิลด์ วอเตอร์ เดย์ ทำให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำนานาชาติร่วมกันเตือนภัยการขาดแคลนน้ำสะอาดในอนาคต โดยหลายฝ่ายประเมินว่าในอนาคตตั้งแต่ ค.ศ.2025 หรือพ.ศ.2568 ประชากรบนโลก 2 ใน 3 แม้แต่ในชาติร่ำรวยจะอยู่ในภาวะตึงเครียดเรื่องการใช้น้ำ น้ำสะอาดจะมีน้อยลงและกลายเป็นทรัพยากรมีค่ามากขึ้น

นอกจากนี้ ภาวะโลกร้อน ยังเป็นปัจจัยที่จะทำให้สถานการณ์น้ำน่าวิตกกว่าเดิม แม่น้ำลำธารทั้งแม่น้ำในประเทศและแม่น้ำกั้นระหว่างประเทศหลายแห่งระดับน้ำลดลง เพราะแหล่งต้นน้ำถูกทำลายด้วยการตัด ทำให้สหประชาชาติรวมทั้งประเทศไทยได้รณรงค์ให้รักษาน้ำและต้นน้ำให้ดีที่สุด และใช้มาตรการทางกฎหมายบังคับ

เขาบอกว่า พื้นที่ต้นน้ำและพื้นที่ป่าไม้ของไทย เดิมมีอยู่ประมาณ 320 ล้านไร่ ปัจจุบันมีเหลืออยู่ประมาณ ร้อยละ 30 และในจังหวัดตากเหลือพื้นที่ป่าประมาณ 7 ล้านไร่ จากเดิม 8 ล้านไร่ ซึ่งหากว่าไม่มีมาตรการหรือกฎหายมาบังคับ อนาคตพื้นที่ป่า จะลดลงไปมากกว่านี้และจะส่งผลกระทบต่อต้นน้ำที่ลดน้อยลง รวมทั้งความเป็นอยู่ของประชาชนอีกหลายจังหวัดมาก

ทั้งนี้ จังหวัดตาก ได้ให้อำเภอสำรวจพื้นที่ป่า ป้องกันการบุกรุกและขอความร่วมมือท้องถิ่นช่วยรักษาต้นน้ำ-สายธาร-และป่าไม้ ที่ต้องอยู่ควบคู่กัน ได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์รักษาทัพยากรป่าไม้ และต้นน้ำ คือ 1.ต้องหยุดยั้งการทำลายป่าไม้ โดยวิธีป้องกันตามมาตรการต่างๆเช่น พ.ร.บ.ป่าไม้, พ.ร.บ ป่าสงวน, พ.ร.บ.อุทยาน เป็นต้น 2.จัดระบบการใช้สอยไม้และต้นน้ำ โดยต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตประชาชน 3.มาตรการในการฟื้นฟู เช่น การปลูกป่าทดทนที่ถูกทำลาย และส่งเสริมการปลูกเพิ่ม เป็นต้น

“แต่มาตรการทั้งหมดต้องลดความขัดแย้งกับประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด”

อีกแนวทางที่สำคัญที่จะนำมาใช้ คือ การทำความเข้าใจและแนะนำให้ประชาชนได้น้อมนำแนวคิด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง” มาใช้ คือ ใช้เท่าที่จำเป็น ตัดไปก็ต้องปลูกทดแทนหรือปลูกเพิ่มมากกว่าเดิม สร้างจิตสำนึกในชุมชน ให้รักหวงแหนป่าที่เป็นเหมือนชีวิตและแหล่งกำเนิดต้นน้ำให้อยู่ต่อสืบไป

นายปัญญารัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เราต้องร่วมมือกัน ด้วยการลงมือปกป้องแหล่งน้ำโดยเร่งด่วน ปรากฏการณ์เอลนีโญ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ส่งผลให้ปริมาณน้ำลดลง ในขณะที่มลพิษทางน้ำจะซ้ำเติมให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด และมีคุณภาพดีเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคลดน้อยลงไปกว่าเดิม

ทั้งนี้ แหล่งกำเนิดมลพิษทางน้ำจากภาคอุตสาหกรรมสามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ และสิ่งมีชีวิตได้อย่างรุนแรง เนื่องจากสารเคมีอันตรายที่ใช้ในกระบวนการผลิตและปนเปื้อนมากับน้ำทิ้ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยากขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันเฝ้าระวังและปกป้องแหล่งน้ำ



กำลังโหลดความคิดเห็น