กาญจนบุรี - ที่ปรึกษาด้านสัตว์ป่ากรมอุทยานแห่งชาติ ชี้ ช้างน้อย “น้องมาฆะ” อาจเป็นช้างแคระ พร้อมจับมือจังหวัดกาญจนบุรีเตรียมสร้างลิฟต์ ส่งพลายมาฆะ ดูดนมแม่เอง
เมื่อเวลา 16.00 น.วันนี้ (4 มี.ค.) ที่โรงพยาบาลปศุสัตว์ และสัตว์ป่า ม.มหิดล หมู่ 9 ต.ลุ่มสุ่ม อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี นายดุลสิทธิ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษาด้านสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมคณะสัตวแพทย์จากศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยจังหวัดลำปาง เดินทางเฝ้าดูอาการของ พังกาญจนา วัย 37 ปี ช้างป่าเพศเมียที่ถูกทารุณจนพิการ หลังจากคลอดลูกก่อนกำหนด 4 เดือนเป็นตัวผู้ วัยเพียง 5 วัน ชื่อ น้องมาฆะ
นาย ดุลสิทธิ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษาด้านสัตว์ป่า กรมอุทยานฯ เปิดเผยว่า เท่าที่ดูจากสายตา ลูกพังกาญจนาที่เกิดมาน่าจะเป็นช้างแคระ และเป็นตัวแรกของประเทศไทยที่ยังหลงเหลืออยู่ เนื่องจากมีรูปร่างที่เล็กมาก และเท่าที่ตรวจดูพบว่า มีสุขภาพที่แข็งแรงและสมบูรณ์ดี ไม่น่าเป็นห่วงเหมือนเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา
แต่ลูกช้างยังกินนมได้ไม่มากนัก และเรายังไม่แน่ใจว่าลูกช้างจะพัฒนาร่างกายไปได้ไกลแค่ไหน ต้องรอให้ลูกช้างกินนมแม่ได้ด้วยตัวเองก่อน ร่างกายก็น่าจะดีขึ้นตามลำดับ ตอนนี้เจ้าหน้าที่ก็พยายามออกหานมช้างตามปางช้างต่างๆ เพื่อนำมาให้ลูกช้าง ซึ่งก็ได้มาบ้าง แต่ยังไม่มากเท่าไหร่ และในวันนี้ลูกช้างกินนมได้แค่ 80 ซีซีเท่านั้น ถือว่าน้อยมาก และจะต้องพยายามทำให้ลูกช้างดื่มนมแม่เองให้ได้ จะเป็นการกระตุ้นตัวเองไปภายในตัว และจะกระตุ้นแม่ช้างให้มีน้ำนมเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ
ขณะนี้ต้องใช้วิธีให้เจ้าหน้าที่ปั๊มเอาน้ำนมแม่ออกมา แต่ก็ได้จำนวนน้อย เท่าที่ได้พูดคุยกับนายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ก็มีความเห็นว่าควรจะสร้างลิฟท์ให้กับลูกช้างเพื่อจะยกตัวขึ้นให้ไปดูดนมแม่เอง ซึ่งทางผู้ว่าฯ ได้ส่งวิศวกร เดินทางมาดูแล้ว ซึ่งน่าจะสร้างโดยการใช้แม่แรง 2 ตัว และแผ่นเหล็กหนักประมาณ 1 ตันกว่า ซึ่งรูปแบบคงคล้ายๆ กับที่ชั่งน้ำหนักของช้าง
ด้าน อ.น.สพ.เชาวลิต นาคทอง รองคณบดีฝ่ายวิทยาเขต ม.มหิดล กล่าวว่า วันนี้ สุขภาพของช้างพังกาญจนา นั้นมีอาการแข็งแรงขึ้น ซึ่งหลังจากคลอดลูกได้ 5 วัน อาการบาดเจ็บบริเวณช่องคลอดก็ทุเลาลงมาก และสามารถกินอาหารได้เพิ่มขึ้น อาการไม่น่าเป็นห่วงเหมือนเมื่อ 3-4 วันที่ผ่านมา
ส่วน น้องมาฆะ ถึงแม้จะมีน้ำหนักลดลงจากเมื่อวาน คือ ชั่งได้ล่าสุด 32.8 กิโลกรัม ลดลง 3 ขีด แต่มีความสดชื่นและซุกซนมากขึ้น และสามารถเดินเองได้บ้างแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่จะผลัดเปลี่ยนกันดูแลอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชม.และไม่อนุญาตให้บุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปจับลูกช้าง เนื่องจากเกรงว่าจะติดเชื้อได้