xs
xsm
sm
md
lg

ภัยแล้งคุกคามโคราชหนัก“ลำตะคอง”ใกล้วิกฤต - ทัพภาค 2 สั่งเตรียมพร้อมช่วยปชช.อีสาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นาปรังของเกษตรกรโคราชหลายพื้นที่ประสบภัยแล้งหนัก ไร้น้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าว วันนี้ (3 มี.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ภัยแล้งคุมคามโคราชหนัก ปริมาณน้ำเขื่อนใหญ่ลดระดับอย่างรวดเร็ว เหลือไม่ถึง 50% ของความจุ ระบุปีเสือ“ม.ค.-มี.ค.” ไร้ฝนตก “เขื่อนลำตะคอง” แหล่งน้ำดิบผลิตประปาหล่อเลี้ยงเมืองโคราชใกล้วิกฤต ผู้ว่าฯ เต้นตั้งศูนย์อำนวยการภัยแล้งเร่งแก้ปัญหาทุกอำเภอ ห่วงเกษตรกรปลูกข้าวนาปรังอ่วมแน่ เผยแห่ปลูกพุ่งจากปีก่อนถึง 2 เท่า เหตุราคาดีรัฐประกันรายได้ ขณะ“แม่ทัพภาค 2” สั่งจังหวัดทหารบกเตรียมความพร้อมกำลังพล เครื่องจักร รถบรรทุกน้ำช่วยเหลือชาวอีสานที่ประสบภัยแล้งทั้ง 19 จังหวัด

วันนี้ (3 มี.ค.) นายประจักษ์ สุวรรณภักดี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำของ จ.นครราชสีมาว่า สถานการณ์น้ำโดยรวมน่าเป็นห่วงเนื่องจากปริมาณน้ำที่มีอยู่น้อยกว่าปีที่ผ่านมาและลดลงอย่างรวดเร็ว ล่าสุดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 4 โครงการมีปริมาณน้ำในอ่าง รวม 518.80 ล้าน ลบ.ม. (ลูกบาศก์เมตร) หรือ 52.26 % ของความจุที่ระดับเก็บกัก 992.69 ล้าน ลบ.ม.

แบ่งเป็น เขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบผลิตประปาหล่อเลี้ยงเมืองโคราช มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวม 130.13 ล้าน ลบ.ม. หรือ 41 % ของความจุที่ระดับเก็บกัก 314 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก , เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำ54.52 ล้าน ลบ.ม. หรือ 49% ของความจุ 110 ล้าน ลบ.ม., เขื่อนมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำ รวม 73.98 ล้าน ลบ.ม. หรือ 52% ของความจุ 141 ล้าน ลบ.ม. และ เขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำรวม 170 ล้าน ลบ.ม. หรือ 62% ของความจุ 275 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางจำนวน 18 โครงการ มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวม 105.73 ล้าน ลบ.ม. หรือ 62.59 % ของความจุที่ระดับเก็บกักรวม 168.94 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับสถานการณ์น้ำฝนตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-3 มี.ค. 2553 ปริมาณน้ำฝนวัดได้เฉลี่ยรวม 0 มม. หรือไม่มีฝนตกเลยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 มีปริมาณน้ำฝนวัดได้เฉลี่ยรวม 23.94 มม. คิดเป็น 69.56% ของปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรวมทั้งปี 1,030 มม.

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ จ.นครราชสีมา ยังไม่มีการประกาศเป็นพื้นที่ประสบพิบัติภัยแล้งแต่อย่างใดเนื่องจากประชาชนยังคงมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคอยู่ คาดว่าหากฝนไม่ตกลงมาในช่วงเดือน มี.ค.นี้จะมีพื้นที่ที่ต้องประกาศพิบัติภัยแล้งในหลายอำเภอเพราะปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกันได้สั่งการให้ตั้งศูนย์อำนวยการภัยแล้งระดับจังหวัดขึ้นที่ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา ถ.สุรนารายณ์ อ.เมือง จ.นครราชสีมา และในระดับอำเภอทุกอำเภอ เพื่อเฝ้าระวังและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้ง

นายประจักษ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงขณะนี้คือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง นอกเขตชลประทาน ซึ่งล่าสุดจากรายงานของสำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมาทราบว่า มีเกษตรกรปลูกข้าวนาปรังมาขึ้นทะเบียนแล้ว ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน จำนวนกว่า 24,000 ราย รวมพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 230,000 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 2 เท่า

สาเหตุที่ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวนาปรังมาก เพราะข้าวราคาดีจากโครงการประกันรายได้ของรัฐบาล ซึ่งมีพื้นที่ที่ไม่เคยปลูกข้าวนาปรังมาก่อน หันมาปลูกในปีนี้ถึง 9 อำเภอ รวมกว่า 20,000 ไร่ ล้วนเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน

“ขณะนี้เกษตรกรได้สูบน้ำจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น น้ำห้วยหนองคลองบึงขึ้นมาใช้ประโยชน์ โดยล่าสุดทางสำนักงานเกษตรจังหวัดฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปให้คำแนะนำกับเกษตรกรไม่ให้เพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวอีก เพราะอาจได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอย่างหนัก และไม่ได้รับเงินชดเชยจากทางการ” นายประจักษ์ กล่าว

ด้าน พล.ท.วีร์วลิต จรสัมฤทธิ์ แม่ทัพภาคที่ 2 (มทภ.2) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้จังหวัดทหารบกและมณฑลทหารบก ได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือภัยแล้ง โดยเตรียมความพร้อมด้านกำลังพลและรถบรรทุกน้ำ เครื่องจักร อุปกรณ์ ไว้ทั้งหมดแล้ว เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภาคอีสาน 19 จังหวัดที่ประสบภาวะภัยแล้ง ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดร้องขอความช่วยเหลือเข้ามาอย่างเป็นทางการ เนื่องจากอาจใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ยังเพียงพอ และบางจังหวัดยังไม่ประกาศเป็นพื้นที่ประสบพิบัติภัยแล้งทั้งจังหวัด

“คาดว่าในช่วงกลางเดือน มี.ค.นี้จะมีหลายจังหวัดที่ประสบภัยแล้ง เนื่องจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในหลายจังหวัดมีปริมาณน้ำเหลือไม่ถึง 50% ของความจุ เช่น เขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา และ เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ โดยจังหวัดที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้คือ จ.สกลนคร เพราะเขื่อนน้ำอูน ขณะนี้มีน้ำเหลือแค่ 30% ของความจุเท่านั้น และอ่างเก็บน้ำต่างๆ ตามเทือกเขาภูพานก็เหลือน้ำอยู่น้อย” พล.ท.วีร์วลิต กล่าว

เขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา แหล่งน้ำดิบผลิตประปาหล่อเลี้ยงเมืองโคราช
กำลังโหลดความคิดเห็น