เชียงราย – สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจับมือ มรช.ยกระดับบุคลากร เปิดทางให้คนสหกรณ์เรียนต่อ มุ่งหวังฟื้นจริยธรรม-คุณธรรมของคนไทยแก้ปัญหาชาติ
รายงานข่าวแจ้งว่าเมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มรช.) ได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือกับชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนียนแห่งประเทศไทย จำกัด ณ ห้องประชุมสำนักงานอาคารอธิการบดี มรช.มี รศ.ดร.มาณพ ภาษิตวิไลธรรม อธิการบดี มรช.เป็นตัวแทนฝ่าย มรช.ส่วนชุมนุมสหกรณ์ฯ มีนายเกียงเฮง แซ่ตั้ง ประธานดำเนินการชุมนุมสหกรณ์ฯ เป็นผู้ลงนามท่ามกลางสักขีพยานจากผู้บริหารและผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งสองฝ่าย
โดยความร่วมมือดังกล่าวเป็นการส่งเสริมให้ทั้งสององค์กรได้แลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ ตั้งศูนย์การเรียนรู้ร่วมกันและส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ หรือผู้ที่ทำงานอยู่ในชุมนุมสหกรณ์ฯ ซึ่งยังไม่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีให้เข้าศึกษาใน มรช.
รศ.ดร.มาณพ กล่าวว่า มรช.มีแนวทางในการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นและไม่ได้มุ่งหวังเพื่อความเป็นเลิศในโลก จึงรับนักศึกษาเข้าเรียนโดยไม่ได้เน้นไปที่การลงทุนเพื่อความคุ้ม แต่เป็นการให้บริการแก่สังคมให้ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา และหากนักศึกษาจบออกไปโดยมีคุณภาพก็ถือว่ามีความคุ้มทุนแล้ว
สำหรับความร่วมมือกับชุมนุมสหกรณ์ฯ ในครั้งนี้คงจะเน้นพัฒนาการศึกษาแก่ผู้ใหญ่ซึ่งอยู่ในชุมนุมสหกรณ์ฯ ซึ่งตนขอยืนยันว่าผู้เข้าเรียนจะได้รับมาตรฐานเดียวกัน แต่อาจจะต้องพบปัญหาบ้างในช่วง 3 เดือนแรกเนื่องจากต้องปรับตัว และหวังว่าความร่วมมือนี้จะเป็นต้นแบบไปสู่ความร่วมมือกับองค์กรอื่นหรือในมหาวิทยาลัยอื่นต่อไป
ด้านนายเกียงเฮง กล่าวว่า รู้สึกยินดีมากในความร่วมมือครั้งนี้เพราะจะช่วยยกระดับคุณภาพของบุคลากรในชุมนุมสหกรณ์ฯ ที่มี 1,400 แห่งทั่วประเทศครอบคลุมเกือบทุกอำเภอในประเทศไทย และมีบุคลากรภายในกว่า 900,000 คน ซึ่งกว่าจะถึงวันนี้พวกเราก่อกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2508 ด้วยคนที่ร่วมกันดำเนินการเริ่มต้นเพียง 13 คน ด้วยเงินทุนขั้นต้นแค่ 360 บาท และเริ่มเข้าไปส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมนุมสลัมต่างๆ จนทำให้เรารู้ว่าการจะแก้ไขปัญหาสังคมได้ก็คือต้องเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยการให้ความรู้ควบคู่กับคุณธรรมและจริยธรรมด้วย
นายเกียงเฮง กล่าวอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยเกิดปัญหาวิกฤติอย่างหนักเกี่ยวกับเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม การจะทำให้คนไทยพ้นวิกฤติก็คือต้องพัฒนาคุณภาพของคน ให้มีคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งหนึ่งในวิธีการที่ดีที่สุดคือวิธีการ "สหกรณ์" หรือ "รักในหลวงต้องทำสหกรณ์" และตนเห็นว่าพวกเรารอช้าไม่ได้อีกแล้วไม่เช่นนั้นประเทศจะเสียหาย
“ผมดีใจที่ มรช.มีแนวทางพัฒนาท้องถิ่นเหมือนสหกรณ์ ก่อนหน้านี้ผมเคยขอความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาบางแห่งแล้วได้คำตอบว่าต้องให้ได้นักศึกษาเข้าเรียนรุ่นละ 50-60 คน จึงจะคุ้มทุนซึ่งแตกต่างจากแนวคิดของ มรช.อย่างมาก”