เชียงราย – ประกันราคาข้าวป่วน ชาวนาเชียงรายโวยขาย “หอมมะลิ 105” แต่ได้ราคาข้าวนาปีทั่วไป ยกขบวนร้องผู้ว่าฯแก้ไขด่วน ขณะที่เกษตรฯอ้างกรอกข้อมูลพลาด รับปากแก้ไขใน 3 วัน
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า วันนี้ (22 ก.พ.) กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ ต.ห้วยสัก อ.เมืองเชียงราย ประมาณ 200 คนนำโดยนายสมิง ปินใจ กำนันตำบลห้วยสัก และนายปาย ต๊ะวิละ อดีตผู้ใหญ่บ้านร่องเบ้อ ต.ห้วยสัก ได้พากันไปชุมนุมที่บริเวณศาลากลาง จ.เชียงราย เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมกรณีชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกข้าวนาปีพันธุ์หอมมะลิ 105 หรือ กข.15 ฯลฯ และเข้าร่วมโครงการรับประกันราคาของรัฐบาลในราคาตันละ 2,298 บาท
แต่ปรากฏว่าเมื่อนำข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณและพันธ์ข้าวไปแจ้งต่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสำนักงานเกษตร อ.เมืองเชียงราย แล้ว มีชาวบ้านจำนวนมากได้รับเงินค่าประกันราคาเพียงตันละ 1,086 บาท ซึ่งเป็นราคาของข้าวสารทั่วไป
นายปาย กล่าวว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ปลูกข้าวหอมมะลิกันหมด และเมื่อไปแจ้งข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ก็แจ้งว่าเป็นข้าวหอมมะลิ แต่สงสัยว่าเหตุใดจึงกลายเป็นข้าวนาปีธรรมดา ซึ่งได้ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักเพราะบางส่วนได้ไปกู้ยืมเงินจาก ธ.ก.ส.มาลงทุนกับการปลูกข้าวไปแล้ว แต่เมื่อขายข้าวแล้วได้ราคาไม่ตรงตามที่ตั้งเป้าเอาไว้ตามโครงการรับประกันทำให้ไม่มีปัญญาชดใช้หนี้เดิมจนหลายรายหันไปเป็นหนี้นอกระบบ จนเกิดปัญหาสังคมตามมาอีก
“สิ่งสำคัญคือชาวบ้านกังวลว่าเมื่อได้รับเงินไม่ครบดังกล่าวจนไปถึงเวลาสิ้นสุดโครงการรับประกันข้าวนาปีวันที่ 28 ก.พ.นี้ ก็จะไม่ได้รับเงินอีกเลย จึงจำเป็นต้องมาร้องขอความเป็นธรรม”
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ต่อมานายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ธ.ก.ส.และเกษตรกร อ.เมืองเชียงราย ไปประชุมร่วมกับแกนนำเกษตรกรเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา
โดยนายสมศักดิ์ แปงการิยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธ.ก.ส.สาขาเชียงราย แจ้งว่า ในปัจจุบันมีเกษตรกรเชียงรายเข้าร่วมโครงการรับประกันราคาข้าวนาปีทั้งหมด 73,980 ราย มีข้าวรวมกันกว่า 300,000 ตัน เป็นมูลค่าประมาณ 739 ล้านบาท ถ่ายโอนเงินให้แล้วจำนวน 739 ราย โดยหากเป็นข้าวหอมมะลิจะได้ราคาตันละ 2,298 บาท แต่หากเป็นข้าวนาปีทั่วไปจะได้ตันละ 1,086 บาท
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับกรณีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากมีข้อมูลจากเกษตรกรเข้าไปมากเกินไป ทำให้เกิดข้อผิดพลาดเรื่องการบันทึกข้อมูลของเจ้าหน้าที่ ทำให้มีการกรอกข้อมูลจากข้าวหอมมะลิเข้าไปในกลุ่มข้าวนาปี ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.ได้ร่วมกับเกษตร อ.เมืองเชียงราย แก้ไขข้อมูลไปแล้วหลายรอบ ครั้งล่าสุดแก้ไขข้อมูลให้เกษตรกรทั้งจังหวัด จำนวน 817 ราย ในส่วนของ ต.ห้วยสัก มีอยู่จำนวน 283 ราย แต่ได้แก้ไขข้อมูลให้กว่า 242 รายแล้ว จึงเหลืออีกเพียง 20 กว่ารายก็จะแล้วเสร็จ แต่ก็ขึ้นอยู่กับทางเกษตร อ.เมืองเชียงราย ด้วยว่าจะสามารถจัดส่งข้อมูลให้ ธ.ก.ส.เพื่อทำสัญญากับเกษตรกรเพื่อจะได้ถ่ายโอนเม็ดเงินได้เมื่อใดเท่านั้น
นายพรศักดิ์ นันตะรัตน์ เกษตร อ.เมืองเชียงราย กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กรอกข้อมูลอาจสับสนเพราะข้าวมีอยู่ 3 ประเภทคือกลุ่มข้าวหอมมะลิ กลุ่มข้าวนาปี และกลุ่มข้าวเหนียว ซึ่งในแต่ละกลุ่มก็ยังมีแยกย่อยลงไปอีกและที่สำคัญราคาก็แตกต่างกัน ปัญหาก็คือเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นแล้วเราก็พยายามแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่และที่ผ่านมาสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว โดยแก้ไขแล้วเสร็จไปเกือบหมดจนเหลือเพียง 20 กว่าราย แต่ข้อมูลที่แก้ไขทั้งหมดไปตกค้างอยู่ที่กรมส่งเสริมการเกษตรซึ่งต้องแบกรับข้อมูลจากโครงการเดียวกันนี้ทั่วประเทศ
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่าเมื่อทราบปัญหาทั้งหมดนายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้แจ้งให้ทั้ง ธ.ก.ส.และเกษตร อ.เมืองเชียงราย ได้เร่งแก้ไขข้อมูลและดำเนินการถ่ายโอนเม็ดเงินให้กับชาวบ้านให้เสร็จก่อนจะปิดโครงการในวันที่ 28 ก.พ.นี้ ซึ่งทั้งสองหน่วยงานรับปากว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน
แต่เพื่อการันตีว่าชาวบ้านจะได้รับเงินแน่นอนนายสุเมธ จึงประกาศต่อกลุ่มผู้ชุมนุมว่า จะทำหนังสือขอขยายระยะเวลาไปยังรัฐบาลอีก กรณีที่การแก้ไขข้อมูลไม่แล้วเสร็จด้วย ทำให้กลุ่มเกษตรกรพอใจและแยกย้ายกันกลับ