xs
xsm
sm
md
lg

สกว.ดันผลวิจัยชาวบ้านแก้ปัญหาท้องถิ่นได้ตรงจุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุบลราชธานี-สกว.อีสานดันวิจัยชาวบ้านแก้ปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน หยุดประชาคมฉาบฉวยชี้นำชุมชนเอาใจฝ่ายการเมือง เชื่องานวิจัยชาวบ้านสามารถแก้ปัญหาท้องถิ่นได้ตรงจุด

ที่ห้องบัวทิพ 3 ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ร่วมกับศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานี จัดเวทีนำเสนอผลการวิจัยต่อกลุ่มนโยบายและสาธารณะ เพื่อหาแนวทางจัดการทรัพยากรน้ำสู่การปฏิบัติจริง

โดยมีการนำเสนองานวิจัยใน 11 พื้นที่ 2 จังหวัด คือ จ.อุบลราชธานี จำนวน 9 พื้นที่ และ จ.ยโสธร 2 พื้นที่

และผลการวิจัยทำโดยชาวบ้าน แบบร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหาการจัดการน้ำเองจนประสบความสำเร็จ และต้องการนำเสนอสู่ระดับนโยบายให้ผลักดันการแก้ปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน การจัดเวทีมีผู้แทนจากสำนักทรัพยากรน้ำภาค 5 นครราชสีมาและอุบลราชธานี สำนักงานชลประทานที่ 7 อุบลราชธานี สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 12 อุบลราชธานี สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอุบลราชธานี สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี และตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่วิจัยทั้งกว่า 50 คน ร่วมเสนอผลงานการวิจัย

นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรทางเลือกกล่าวว่า เห็นด้วยกับงานวิจัยที่เริ่มต้นจากชาวบ้าน แล้วทำจนประสบความสำเร็จ แต่สิ่งที่อยากจะเสนอให้ทบทวนคือ คำว่า ”ประชาคม” กับ “การมีส่วนร่วม” ทุกวันนี้เพี้ยนหนัก “ประชาคม” เพราะผู้ดำเนินการจะถามชาวบ้านให้ตอบว่า ใช่ หรือไม่ใช่ พอชาวบ้านตอบว่า ”ใช่” พร้อมให้ยกมือ และก็ถ่ายรูปพรึ่บพรับ

ดังนั้น “การมีส่วนร่วม” ก็เลยกลายเป็นเพียงพิธีกรรม ที่สร้างความชอบธรรมให้กับผู้มีอำนาจ จึงต้องแก้ด้วยการให้นักวิชาการตั้งคำถามกับกระบวนการประชาคมที่เป็นอยู่

ดร.อินทิรา ซาฮีร์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แสดงความคิดเห็นว่า เวลาที่เจ้าหน้ารัฐลงไปทำงานกับชุมชน ชาวบ้านจะไม่ค่อยกล้าพูด หรือไม่อยากพูดเหมือนจะมีฉากบางๆกั้นอยู่ นักวิชาการนำการสนทนา ชาวบ้านก็จะไม่เปิดใจ เพราะเกรงใจความเป็นอาจารย์ ดังนั้นเจ้าที่รัฐหรือนักวิชาการ ควรลงไปหนุนช่วยอยู่เบื้องหลังดีกว่า เพราะการให้ชุมชนคุยกันเอง จะได้ความจริงมากกว่า

ด้าน ดร.เสนอ ภิรมจิตรผ่อง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ชี้ว่า การวิจัยส่วนใหญ่จำกัดด้วยเวลา ค่อนข้างมีปัญหา ข้อมูลไม่ตรง ไม่จริง ไม่ลึก ชาวบ้านตอบมั่งไม่ตอบมั่ง งานวิจัยที่ชาวบ้านทำเอง จะได้ข้อมูลที่นำมาตอบคำถามได้ตรงจุด

ส่วนนายเฉลียว ลีสง่า ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 12 ให้ความเห็นว่า ส่วนราชการต้องการทำตามที่ชาวบ้านต้องการ แต่ติดที่ปัญหาการเมือง จึงมีหลายโครงการที่ไม่เหมาะสมกับพื้นที่ แต่ก็สั่งให้ทำ ทำให้โครงการที่ขอไป 100 % ถูกแขวน 70 อนุมัติ 30% หนำซ้ำใน 30% ยังเปลี่ยนพื้นที่ใหม่หมด ไม่เหมือนที่เราเสนอไป หลายครั้งก็ไม่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน แต่ตรงกับความต้องการของฝ่ายนโยบาย หรือการเมือง

ดร.บัญชร แก้วส่อง ที่ปรึกษางานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคอีสาน สรุปเวทีการหารือว่า ควรจะมีการจัดเวทีร่วมกับฝ่ายนโยบาย เพื่อจะได้ผลักดันงานวิจัยชาวบ้านสู่นโยบายสาธารณะ จึงจะเกิดเป็นประโยชน์ในการจัดการทรัพยากรน้ำและเรื่องอื่นๆ ได้อย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น