ผู้จัดการออนไลน์ - เครือข่ายภาคประชาชน ชู “บ้านมั่นคงเทศบาลตำบลโพรงมะเดื่อ” ให้เป็นต้นแบบชุมชนเข้มแข็ง ตามแนวทางที่เกิดจากกระบวนการร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับผลประโยชน์ ภายใต้ระบบกฎเกณฑ์ของการอยู่รวมกันให้เกิดความสงบสุขมวลรวม สามารถสร้างระบบ จารีตประเพณี ความเชื่อ คำสอน ระบบยุติธรรม ตามกลไกการพัฒนาที่เกิดขึ้นจากชุมชนฐานราก
ร่องรอยเรื่องราวในอดีต สืบต่อถึงภาพปรากฏแห่งปัจจุบันบอกเราได้ดีว่า ชุมชนเทศบาลตำบลโพรงมะเดื่อตั้งอยู่ริมทางรถไฟระหว่าง ต. โพรงมะเดื่อ และ ต. หนองดินแดง อ.เมือง จ.นครปฐม เป็นชุมชนเก่าแก่มีอายุประมาณ 80 ปี ซึ่งเมื่อก่อนการตั้งถิ่นฐานอยู่กันอย่างกระจัดกระจายตามริมทางรถไฟ ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย ที่เกิดจากประกอบอาชีพ รับจ้างทำสวน เป็นลูกจ้างในฟาร์มเลี้ยงหมู คนงานก่อสร้าง เพิงพักขายของชำ รับจ้างทำนา และทำงานในโรงงาน
ปภาสร ศุโชคภิญโญ ชาวบ้านเรียกขานว่า ป้าแต๋ว ผู้ประสานงานสหกรณ์บ้านมั่นคงเทศบาลตำบลโพรงมะเดื่อ บอกว่า เมื่อรัฐบาลมีนโยบายการแก้ปัญหาความยากจน โดยให้ผู้ที่เดือดร้อนได้มาลงทะเบียนความยากจน (สย.7) หลังจากลงทะเบียนมีชาวบ้านแจ้งความจำนงเพื่อมีที่อยู่อาศัยกว่า 2,000 ครอบครัว เทศบาลตำบลโพรงมะเดื่อและสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครปฐม จึงได้ประสานกับชุมชนเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน และคัดเลือกผู้ที่เดือดร้อนที่สุดก่อนเป็นอันดับแรกจาก 4 ชุมชน คือ ชุมชนโพรงมะเดื่อ 42 ครัวเรือน ชุมชนหนองดินแดง 14 ครัวเรือน ชุมชนริมทางรถไฟ 7 ครัวเรือน และชุมชนริมคลอง 7 ครัวเรือน รวมเป็น 69 ครัวเรือน สมาชิก 150 กว่าคน ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยขึ้นในปี 2548
ป้าแต๋ว บอกว่า สำหรับกระบวนการหาที่ดินรองรับผู้เดือดร้อนได้รับการสนับสนุนจากเทศบาล ให้ใช้ที่ดินว่างเปล่าบริเวณข้างบึงหนองพาบน้ำในเนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน เป็นที่ตั้งชุมชนใหม่ โดยได้ทำสัญญาเช่าเป็นระยะยาว 30 ปี แบ่งเนื้อที่ออกเป็น 70 แปลง ขนาดแปลงละ 18 ตารางวา ที่แบ่งเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งแปลงเป็นเพราะเราต้องการให้สมาชิกเราคนหนึ่งที่เขาจนมากๆ ได้มีบ้านเป็นของตนเอง โดยสมาชิกได้ร่วมกันออกเงินให้ครอบครัวละ 500 บาทเพื่อสร้างบ้าน
ในระหว่างการหาที่ดินก็มีการออมเงินกันทุกเดือนๆ ละ500-1,000 บาท เพื่อเป็นทุนเริ่มต้นของชุมชน ซึ่งเพียงปีกว่าชุมชนมีเงินออมร่วมกันถึง 1,045,035 บาท ช่วงนั้นเองได้มีการเสนอของบสาธารณูปโภคนำมาถมที่ดิน สร้างถนน ไฟฟ้า และน้ำประปา จำนวน 4,200,000 บาท เมื่อบ้านมั่นคงเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น จึงได้เสนอของบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยกับ พอช. จำนวน 8,025,309 บาท
ส่วนบ้านที่สร้างมี 2 แบบ คือ บ้านชั้นเดียวและบ้านสองชั้นราคาประมาณหลังละ 150,000-200,000 บาท โดยการเอาแรงกันหรือใช้ช่างชุมชน ส่วนวัสดุอุปกรณ์ก็รวมกันซื้อเพื่อต่อรองราคาและราคาที่ถูกลง ตัวบ้านก็ไม่เล็กไม่ใหญ่อยู่ได้ทั้งครอบครัว ส่วนการผ่อนส่งบ้านจะอยู่ที่ 1,140-1,900 บาท ถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับการเช่าบ้านอยู่ก่อนหน้านี้
ป้าแต๋ว บอกว่า เมื่อมีบ้านที่มั่นคงแล้วก็คิดกันว่าเราจะทำอย่างไรให้เงินสินเชื่อที่กู้ยืมจาก พอช. ไม่สูญหายและสามารถเก็บคืนส่งรัฐบาลได้ทั้งต้นทั้งดอกเบี้ย จึงทำประชาคมกันอีกครั้ง เพื่อให้การใช้จ่ายเงินเกิดประโยชน์สูงสุด โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 6 กลุ่มย่อย บริหารจัดการอย่างครบวงจรในกลุ่มที่มีตั้งแต่ 10-12 ครัวเรือน แยกเป็น กลุ่มสินเชื่อ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มปลูกสร้างบ้าน กลุ่มบริหารการจัดการกองทุน และกลุ่มบริหารภายในสหกรณ์ โดยทั้ง 6 กลุ่มย่อยจะแบ่งคณะกรรมการออกเป็น 11 คน เพื่อดูแลระบบกลุ่มย่อยนี้ ซึ่งทุกขั้นตอนมีความโปร่งใส โดยมีการตรวจสองจากคณะกรรมการชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และหน่วยงานรัฐท้องถิ่น
การรวมตัวกันเป็นชุมชน ไม่อาจอยู่กันแบบไร้กฎเกณฑ์จึงร่วมกันสร้างกฎระเบียบรองรับการอยู่ร่วมกันในชุมชน และให้สมาชิกทำตามกฎอย่างเคร่งครัด เพราะบ้านมั่นคงไม่มีผู้ใหญ่บ้าน ไม่มีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และไม่มีสมาชิก อบต. มีแต่ผู้นำตามธรรมชาติที่จะคอยตักเตือนเพื่อสมาชิกหากคิดออกนอกลู่นอกทาง
แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าชาวบ้านธรรมดาที่มีความรู้ระดับ ป.4 หรือ ป.6 และสูงที่สุดระดับ ปวช. จะสามารถพยุงชีวิตคนทั้งชุมชนให้มีบ้าน บ้านที่บริหารจัดการเงินทุนขนาด 10 ล้านบาท ได้ด้วยตัวเอง เพราะชาวบ้านเองสื่อภาษาอย่างง่ายๆ ไม่ซับซ้อน พูดภาษาชาวบ้านธรรมดา โดยกุญแจสำคัญอยู่ที่ความไว้เนื้อเชื่อใจกันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
ป้าแต๋ว ยังฝากถึงรัฐบาลว่าเงินที่ลงมาให้คนจนรับรองว่าไม่สูญหาย เพราะคนจนก็บริหารเงินเป็น อาจจะบริหารได้ดีกว่าคนรวย เพราะว่าคนจนมีความสามัคคี มีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และเรามีความอดทนมากที่สุด เราจะไม่ให้เงินที่รัฐอุดหนุนมาสูญหายไปอย่างแน่นอน เราจะทำให้ดีที่สุดเพื่อชีวิตคนจนจะลืมตาอ้าปากได้ และเงินทั้งหมดที่เรากู้ยืมจากรัฐมาเราจะส่งคืนทั้งหมดเพื่อจะได้เอาเงินส่วนนี้ไปช่วยเหลือชุมชนอืนๆที่เขาเดือดร้อนต่อไป
อนงค์ลักษณ์ ตันกิตติวัฒน์ นายกเทศบาลตำบลโพรงมะเดื่อ อ.เมือง จ.นครปฐม เล่าเสริมว่า เมื่อผู้คนในชุมชนมีบ้านแล้วจึงเริ่มมองหาอาชีพเสริมรองรับภายหลังจากการว่างเว้นการทำงาน โดยได้รับการช่วยเหลือจากสำนักงานพิทักษ์เด็กผู้ด้อยโอกาสให้งบประมาณและส่งเจ้าหน้าที่มาอบรมการทำยาหม่อง ทำดอกไม้จันทน์ ทำผักปลอดสาร จำหน่ายทั้งภายในและภายนอกชุมชน ส่วนรายได้ก็ไม่น้อยทีเดียว เพราะสมาชิกมีรายได้กว่า 1,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถผ่อนบ้านได้
บ้านมั่นคงโพรงมะเดื่อมีทะเบียนบ้านกันทุกหลังคาเรือน โดยใช้ชื่อในนามสหกรณ์เพื่อเป็นเกาะป้องกันการขายสิทธิ์ ซึ่งนับว่ามีเยอะในช่วงที่ผ่านมา เราต้องป้องกันทุกกรณีเพื่อให้บ้านเป็นของคนจนจริงๆ ที่ไม่ใช่ใครจะมาซื้อสิทธิได้ง่ายๆ หากแต่จะขายสิทธิ์แล้วต้องเห็นชอบจากสหกรณ์ ว่าคนที่จะเข้ามาซื้อต้องเป็นคนจนจริงๆ และคนที่ขายต้องมีที่อยู่ที่มั่นคง เพราะบ้านมั่นคงไม่ได้ทำเป็นธุรกิจ แต่เป็นบ้านที่รองรับคนจนจริงๆ
ในส่วนของเทศบาลแล้วเราเห็นบ้านเมืองเรา เห็นคนจนที่ไม่มีที่จะอยู่ได้มีบ้านอยู่อาศัยก็เป็นความภาคภูมิใจ ซึ่งในระยะต่อไปเราจะหาอาชีพเสริมเพื่อมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น จะได้มีเงินพอเลี้ยงครอบครัวไม่ทุกข์ยากมากนัก เพราะเมื่อมีบ้านแล้วแต่มีหนี้สินที่ไม่มีจะจ่ายมันก็ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง เทศบาลเองจึงจำเป็นต้องลงมาให้ความช่วยเหลือสอบถามถึงความเป็นอยู่ตลอดเวลา
“ในอนาคตเราจะใช้โครงการบ้านมั่นคงแห่งนี้ เป็นต้นแบบให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อน รองรับกับครอบครัวที่ไม่มีที่อยู่อาศัย ผู้ที่ไม่มีที่ดินและผู้ที่ยากจนก็จะช่วยตรงนี้ได้มาก”
คุณยายสุมิตรา เหลืองพุ่มพิพัฒน์ สมาชิกโครงการบ้านมั่นคงชุมชนโพรงมะเดื่อ อายุ 72 ปี บอกว่า ชั่วชีวิตนี้ไม่เคยคิดว่าจะมีบ้านเป็นของตนเองเพราะอายุก็มากแล้ว อยู่อย่างนี้ก็ดีแล้ว แต่ความคิดนั้นก็ต้องเปลี่ยนไป เพราะว่าการที่เรามาเช่าที่การรถไฟสักวันเขาก็ต้องขับไล่ที่แน่นอน จึงมาพบกับคุณปภาสร มาแนะนำให้ไปอยู่โครงการบ้านมั่นคงด้วยกัน แรกๆ ก็ไม่เชื่อ แต่ในใจก็อยากลองเข้าโครงการ
บ้านของยายเป็นบ้านชั้นเดียว นับว่ามีขนาดใหญ่พอสมควรเมื่อเทียบกับบ้านหลังเดิม นับว่าเป็นโครงการที่เอื้อประโยชน์สำหรับชาวบ้านที่มีรายได้น้อย แต่อยากมีบ้านเป็นของตนเองเป็นอย่างยิ่งและนอกเหนือจากชาวบ้านจะมีบ้านเป็นของตนเองแล้ว ทุกคนในชุมชนยังได้มีส่วนร่วมและบทบาทในการบริหารจัดการด้านต่างๆ ในรูปแบบของการแสดงความคิดเห็นเพื่อนำมาพัฒนาชุมชนของตนให้เข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ในปัจจุบันและอนาคต
ยายบอกว่า หากพบว่าร่างกาย และ หัวใจ ของเรามันเหนื่อยล้าเกินไป ก็ควรหยุดพักผ่อนบ้าง และแล้วหัวใจของเรา ก็จะพาให้ได้พานพบกับสถานที่ที่เป็นยิ่งกว่าที่พักใจและกาย คือ “บ้านมั่นคง” บ้านที่ให้มากกว่าคำว่าบ้าน