ตาก - ชาวลาหู่ (มูเซอ) จัดงานสืบสานประเพณีปีใหม่ ล้อมเต้น “จะคึ” สานประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ สร้างบุญ-ต่ออายุ
รายงานข่าวจากจังหวัดตาก แจ้งว่า ที่บ้านห้วยปลาหลด หมู่ 8 ตำบลด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด จ.ตาก นายจิระวัฒน์ จุฑาเศรษฐ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตาก เป็นตัวแทนของนายชิงชัย ก่อประภากิจ นายก อบจ.ตาก เปิดการจัดงานสืบสานประเพณีปีใหม่ ของชาวไทยภูเขาเผ่ามูเซอ หรือชนเผ่าลาหู่ ช่วงสุดสัปดาห์นี้ โดยมีผู้นำท้องถิ่น และชาวไทยภูเขาเผ่ามูเซอ กว่า 500 คนเข้าร่วม
การจัดงานสืบสานประเพณีขึ้นปีใหม่ ที่สืบสานต่อกันมายาวนานหลายร้อยปี จะมีการ “เต้นจะคึ” และ “รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ” เพื่อสร้างบุญต่ออายุให้ตัวเอง โดยมี “ปู่จารย์” หรือที่คนไทยเรียก อาจารย์เป็นผู้ประกอบพิธี สิ่งที่เป็นจุดสำคัญในการจัดงานปีใหม่ชาวมูเซอ คือ การเต้น “จะคึ” สร้างบุญ ต่ออายุ เพราะชาวมูเซอ จะต้องเต้นจะคึในลานจะคึ ประจำทุกหมู่บ้าน เพราะลานจะคึ คือลานอันศักดิ์สิทธิ์มีจอมปลวกอยู่กลางลาน ผู้ใดจะเข้ามาทำในสิ่งไม่ดีไม่งามไม่ได้ ใช้ประกอบพิธีการต่างๆ ห้ามสัตว์ทุกชนิดเข้าไป และมีรั้วล้อมรอบย่างแน่นหนา ห้ามผู้ใดเข้าไปใช้ในยามอื่น
นอกจากประเพณีสำคัญทางประเพณีชาวลาหู่เท่านั้นและต้องมีปู่จารย์ เป็นผู้นำประกอบพิธี ซึ่งการจัดงานปีใหม่ของชาวมูเซอนั้น ทุกปีจะมีคนจากที่อื่นรวมทั้งชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ เข้าไปร่วมงานจำนวนหลายพันคน เพื่อร่วมแสดงความยินดีกับชาวลาหู่ (มูเซอ) ในวันปีใหม่กับก้าวใหม่ของชีวิตที่จะดีขึ้นเมื่อได้เต้นจะคึและดำหัวผู้สูงอายุ นั่นคือความเชื่อที่สานสืบต่อกันมา
นายจักรพงษ์ มงคลคีรี หรือผู้ใหญ่จะพือ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 8 บ้านห้วยปลาหลด ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด จ.ตาก กล่าวว่า ชาวไทยภูเขาเผ่ามูเซอ จะเรียกตัวเองว่า “ลาหู่” และชอบให้คนอื่นเรียกเช่นนั้น เหมือนชาวกะเหรี่ยง ที่ชอบให้เรียกตัวเองว่า “ปากะญอ” ชาวลาหู่ นิยมอาศัยบนภูเขาพื้นที่ราบสูง เหนือระดับน้ำทะเล 600-700 เมตร เพราะเชื่อว่าอยู่บนที่สูงจะปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บและอยู่แหล่งต้นน้ำ ในการดำรงชีวิต มีความเชื่อในเรื่องผีเจ้าป่า ผีเจ้าเขา และเทพเจ้าคือเจ้าพระยาอินทร์ ที่จะมีการอัญเชิญมาร่วมในพิธีอันศักดิ์สิทธิ์กลางลาน “เต้นจะคึ” โดยมี “ปู่จารย์” เป็นผู้อันเชิญและประกอบพิธีกรรม
ระหว่างการ “เต้นจะคึ” นั้นเจ้าพระยาอินทร์จะอยู่ในสถานที่แห่งอันด้วย คอยแพร่บุญบารมีไปให้ชาวลาหู่ที่เข้าร่วมพิธีในการต่อชีวิตให้ดำรงอยู่และประกอบอาชีพทำพืชสวนไร่นาอย่างได้ผลในปีนั้นๆ ในพิธีเต้นจะคึรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ (ปู่-ย่า-ตา-ยาย-พ่อ-แม่ และผู้อาวุโส) จะมีขนมที่ทำการข่าวเหนียวปั้นผสมงารวมทั้งใบยาสูบ-น้ำชา-เทียนไขเครื่องหมายเพื่อเป็นการส่องแสงสว่างในการดำรงชีวิต เพื่อถวายและขอพรจากเจ้าพระยาอินทร์ เป็นความเชื่อและความศรัทธาของชนชาวลาหู่มาตลอดหลายร้อยปีสืบไปสู่รุ่นลูกหลานตลอดไป
รานงานข่าวแจ้งว่า ชาวไทยภูเขาเผ่ามูเซอ (ลาหู่) ในพื้นที่จังหวัดตากมีจำนวนหลายพันครอบครัวนับหมื่นๆคน อาศัยอยู่กระจายไปตามหมู่บ้านและตำบลต่างๆ เช่น อ.แม่สอด-แม่ระมาด-ท่าสองยาง-อุ้มผาง-บ้านตาก และ อ.พบพระ มีวิถีชีวิตอยู่บนพื้นที่สูงต้นน้ำ ลักษณะบ้านพักอาศัยก็จะแบบใต้ถุนสูง ชอบสีน้ำเงิน-ฟ้า ชาวลาหู่ที่ จ.ตากส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีความเชื่อในเจ้าพระอินทร์-ผีป่าผีเจ้าเขาและผีบ้าน เป็นชนเผ่าที่ยึดถือสัจจะ กตัญญู เชื่อมั่นในความจริงและหนักแน่นในสิ่งที่ถูกต้อง และซื่อสัตย์ จริงใจ