ศูนย์ข่าวศรีราชา - เมืองพัทยาลุยแก้ปัญหาขยะล้นเมือง! ล่าสุดจับมือ กฟภ.บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการศึกษาความเหมาะสมการดำเนินการโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ชี้นำร่องเมืองพัทยาเป็นที่แรกในประเทศไทยเพราะเป็นเมืองท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่มีปริมาณขยะมากถึง 300-400 ตันต่อวัน หวังเป็นเมืองต้นแบบในการศึกษาการแก้ไขปัญหาขยะอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
วันนี้ (20 ธ.ค.) ที่ห้องประชุมศาลาว่าการเมืองพัทยา นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา และนายอดิสร เกียรติโชควิวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ร่วมในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการศึกษาความเหมาะสมการดำเนินการโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน โดยมีตัวแทนจากภาครัฐและเอกชน ข้าราชการ ผู้นำชุมชน และสื่อมวลชนแนงต่างๆ เข้าร่วม
นายอิทธิพลระบุว่า ที่ผ่านมาจากการเติบโตและขยายตัวของเมืองพัทยาจนเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกที่ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากในแต่ละปี ส่งผลให้ปริมาณขยะและสิ่งปฏิกูลในเขตเมืองพัทยาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และที่ผ่านมาได้มีการศึกษาแนวทางในการบริหารจัดการและกำจัดขยะโดยวิธีการฝังกลบ แต่จากการศึกษารายละเอียดกลับพบว่าไม่มีความสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเมือง และไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับรองรับปริมาณขยะที่จะมีมากขึ้นในอนาคตด้วย
ทั้งนี้ เมืองพัทยามีแนวคิดในการแก้ไขและลดปริมาณขยะในเขตเมืองพัทยาที่มีสูงถึงประมาณ 300-400 ตันต่อวัน โดยหวังจะให้เกิดประโยชน์สูงสุดและที่สำคัญคือวิธีการจัดการต้องไม่มีผลกระทบและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงมีการพูดคุยรายละเอียดในขั้นตอนของการศึกษาความเป็นไปได้ ในการดำเนินการเกี่ยวกับโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนกับกฟภ.จนในที่สุดจึงเกิดความร่วมมือในการศึกษาโครงการดังกล่าวในเบื้องต้น ซึ่งใช้ระยะเวลาทั้งสิ้นประมาณ 6 เดือนผลการศึกษาจึงแล้วเสร็จ
ด้าน นายอดิสรให้ข้อมูลด้วยว่า ปริมาณขยะในประเทศไทยเฉลี่ยแล้วตกอยู่วันละประมาณ 4 หมื่นตันต่อวัน ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญในการหาแนวทางการจัดการและการกำจัดขยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลได้มีนโยบายสำคัญที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งดำเนินการในเรื่องของการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงเรื่องการกำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อลดปัญหาปริมาณขยะที่ต้องนำมาฝังกลบของประเทศในแต่ละวันด้วย
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวหากผ่านพ้นขั้นตอนการศึกษาถึงแนวโน้มความเป็นไปได้แล้ว ความเป็นรูปธรรมในการดำเนินการคงมีความชัดเจนขึ้น โดยในส่วนของงบประมาณนั้นคงเป็นเรื่องของ 2 องค์กร คือ เมืองพัทยา และกฟภ.ที่จะเป็นผู้สนับสนุน ซึ่งหากโครงการมีความเป็นรูปธรรมแล้ว เมืองพัทยาจะถือได้ว่าเป็นพื้นที่นำร่องในการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนแห่งแรกของประเทศไทย โดยสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มได้ 3 เมกะวัตต์ต่อวัน และยังหวังด้วยว่าข้อมูลจากการศึกษาโครงการในครั้งนี้ จะเป็นต้นแบบในการสนับสนุนข้อมูลสำหรับในส่วนของพื้นที่อื่นๆ เพื่อนำไปปรับใช้พัฒนาท้องถิ่นและประเทศต่อไป