xs
xsm
sm
md
lg

“ป.ป.ส.ภาค 3”ร่วม “ทหาร-ตร.” คุมเข้มปราบ/สกัดยาเสพติดทะลักชายแดนอีสานใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ท.วีร์วลิต จรสัมฤทธิ์ มทภ.2 ประธานเปิดการแถลงและประชุมมอบนโยบายแผนยุทธศาสตร์ปราบปรามยาเสพติดภาคอีสานตอนล่าง ปี 2553 ที่ จ.นครราชสีมา วันนี้ ( 19 ม.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - “ปปส.ภาค 3” ร่วม “กอ.รมน.ภาค 2” และ “ตร.ภาค 3” ติวเข้มหน่วยงานเกี่ยวข้องรุกป้องกันปราบปรามยาเสพติดทะลักเข้าไทยตามแนวชายแดน 8 จว.อีสานใต้ “แม่ทัพภาค 2” เผยปีที่ผ่านมาสกัดจับยาบ้าได้แค่ 30% ที่เหลือ 70 % ระบาดในประเทศ ชี้ปรับแผนเข้มงวดใช้มาตรการเด็ดขาดทำลายโครงสร้างและเครือข่ายการค้าแก๊งยานรก จับตา จว.ชายแดน “อุบลฯ -อำนาจเจริญ” ทะลักมากสุด ขนแบบกองทัพมดยากต่อการตรวจสอบจับกุม ส่วนโคราช-อุบลฯ-สุรินทร์แชมป์ระบาดหนัก ระบุ “ยาไอซ์” น่าห่วงแนวโน้มระบาดรุนแรงเหตุผู้ผลิตเร่งเพิ่มปริมาณผลิตออกตีตลาด

วันนี้( 19 ม.ค.) เมื่อเวลา 11.30 น. ที่โรงแรม เฮอร์มิเทจ อ.เมือง จ. นครราชสีมา พล.ท.วีร์วลิต จรสัมฤทธิ์ แม่ทัพภาคที่ 2 (มทภ.2) เป็นประธานเปิดการแถลงและประชุมมอบนโยบายแผนยุทธศาสตร์ปราบปรามยาเสพติดพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประจำปี 2553 มี พล.ต.ต.อำนวย มหาผล รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 (รอง ผบช.ภ.3) และ นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 3 (ผอ.ปปส.ภ. 3) ให้การต้อนรับ พร้อมรายงานสถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง

โดยมีหัวหน้าส่วนข้าราชการ ตำรวจระดับรองผู้บังคับการ (ผบก.) 8 จังหวัดอีสานตอนล่าง ประกอบด้วย ชัยภูมิ,นครราชสีมา,บุรีรัมย์,สุรินทร์,ศรีสะเกษ, ยโสธร, อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ,ผู้บังคับหน่วยทหารกองทัพภาคที่ 2 , เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ , สรรพสามิตจังหวัด , เจ้าหน้าที่ขนส่งจังหวัด , เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เข้าร่วมประชุมกว่า 250 คน ซึ่ง สำนักงาน ปปส.ภาค 3 ,กอ.รมน.ภาค 2 และตำรวจภูธรภาค 3 ร่วมกันจัดขึ้น

ทั้งนี้เพื่อสกัดกั้นและปราบปรามขบวนการลักลอบนำเข้ายาเสพติดทั้งการนำเข้าจากต่างประเทศและการลำเลียงเข้าสู่พื้นที่ตอนในภาคอีสาน และเพื่อสืบสวนปราบปรามจับกุมขยายผล ยึดทรัพย์สินผู้ค้า ผู้จำหน่ายรายเก่าที่ยังหลงเหลือ และรายใหม่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผู้ที่ถูกออกหมายจับไว้ โดยใช้มาตรการเด็ดขาดเพื่อปราบปรามทำลายโครงสร้างและเครือข่ายขบวนการค้ายาเสพติด รวมถึงการสืบสวนปราบปรามเครือข่ายการค้ายาเสพติดทั้งในและนอกเรือนจำ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องหรือตามข้อร้องเรียนภาคประชาชนชนประชาสังคม

พล.ท.วีร์วลิต จรสัมฤทธิ์ แม่ทัพภาคที่ 2 ในฐานะ ผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 (ผอ.กอ.รมน.ภาค 2) กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์ยาเสพติดในรอบปี 2552 ที่ผ่านมาพบว่าเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมและสกัดกั้นยาเสพติดได้แค่ 30% เท่านั้นส่วนที่เหลืออีก 70% คาดว่าจะระบาดเข้ามาในประเทศ ขณะที่ยาเสพติดมีราคาแพงขึ้นและมีผู้เสพเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขกันอย่างแท้จริงและต้องจริงจัง มิฉะนั้นปัญหาเหล่านี้จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศชาติ ไม่ว่าทางด้านเศรษฐกิจ สังคม

ทั้งนี้ จากรายงานพบว่า ยาเสพติดที่มีการระบาดมากและทะลักเข้ามาทางด้านชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือ ยาบ้า และ กัญชา ส่วนที่มีการระบาดแต่มีปริมาณน้อย เช่น เฮโลอีน ยาไอซ์ จังหวัดที่มีการทะลักเข้ามาของยาเสพติดจากประเทศเพื่อนบ้านมากที่สุดคือ จ.อุบลราชธานี จังหวัดที่มีการจับกุมได้มากที่สุดคือ จ.นครราชสีมา

“จากการข่าวทราบว่ายาเสพติดที่จ่อทะลักเข้ามาในภาคอีสานตอนบนคือ กัญชา ซึ่งจะเข้ามาทางด้าน จ.นครพนม เป็นหลัก ส่วนยาเสพติดประเภทยาบ้า จะไม่ขนเข้ามาเป็นล็อตใหญ่ แต่ใช้ลักษณะกองทัพมดคือทยอยขนเข้ามาทีละน้อย ซึ่งการปฏิบัติงานในปี 2553 เจ้าหน้าที่ต้องเข้มงวดมากยิ่งขึ้น” พล.ท.วีร์วลิต กล่าว

ด้านนายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต ผู้อำนวยการ ปปส.ภาค 3 กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดยาเสพติดมีตัวเลขที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนและในชุมชน ส่วนการลักลอบนำเข้าล่าสุดในช่วงเดือนที่ผ่านมาสถานการณ์ยังนิ่ง อาจเป็นเพราะมีการรอเวลาอะไรบางอย่าง สำหรับแหล่งผลิตยาเสพติดส่วนใหญ่อยู่นอกประเทศโดยเฉพาะทางด้านตอนบนของไทย

ขณะนี้มีการเปลี่ยนรูปแบบของยาเสพติดเป็นยาตัวใหม่ที่ผู้ผลิตพยายามลองผลิตขึ้นมา เช่น ยาไอซ์ ที่พยายามผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาสูงและยังคงอยู่ในกลุ่มที่จำกัด แต่สถานการณ์การระบาดของ ยาไอซ์ ในไทยน่าเป็นห่วงมากเพราะเป็นยาที่มีความรุนแรงมากกว่ายาบ้าแม้เป็นยาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน หากมีการผลิตยาเสพติดตัวนี้เพิ่มขึ้นแล้วราคาลดลงจะทำให้มีคนเสพหรือคนหาซื้อได้ง่ายขึ้น จะทำให้มีการระบาดเพิ่มมากขึ้นตามมาด้วย

นายวิตถวัลย์ กล่าวอีกว่า แผนสกัดกั้นการทะลักเข้ามาของยาเสพติดนั้น จังหวัดที่ต้องให้ความสำคัญมากคือ จ.อุบลราชธานี จ.อำนาจเจริญ ส่วนจังหวัดอื่นๆ อย่าง จ.ศรีสะเกษ , จ.สุรินทร์ เป็นจังหวัดที่ต้องคอยจับตารองลงมาเพราะเป็นพื้นที่ชายแดนเหมือนกัน ส่วนการแพร่ระบาดพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงคือ จ.อุบลราชธานี , จ.นครราชสีมา และ จ.สุรินทร์

ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบและทำให้ยากต่อการสกัดกั้นยาเสพติดจากชายแดน คือ วัฒนธรรมของคนทั้ง 2 ประเทศใกล้เคียงกันมาก การใช้ภาษาใกล้เคียงกัน บางครั้งเป็นเครือญาติกันจึงแยกแยะไม่ออกและการลักลอบก็ขนกันเป็นกองทัพมด ซึ่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบยาก

“ฉะนั้นการดำเนินงานด้านการป้องกันต้องควบคู่ไปกับการปราบปราม หากสามารถเตือนสติหรือปรับทัศนะคติของคนไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยว ไม่เข้าไปใช้ ไม่เข้าไปค้า ตัวยาเสพติดก็คงไม่มีค่าอะไร ตรงนี้คือสิ่งที่ต้องพยายามทำให้สัมฤทธิ์ผล โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ” นายวิตถวัลย์ กล่าว




นายวิตถวัลย์  สุนทรขจิต ผอ.ปปส.ภาค 3
กำลังโหลดความคิดเห็น