สุโขทัย - ชาวบ้านสุโขทัยโวยชลประทาน หมกเม็ดค่าเวนคืนขุด “แม่น้ำยม 2” แฉซ้ำเงื่อนงำค่าชดเชยต้นไม้ ทั้งที่ไม่มีปลูกสักต้น
วันนี้ (18 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียน จากชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 9 ต.กกแรต อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ว่าได้รับความเดือดร้อนจากกรณีที่หน่วยงานรัฐ สังกัดกรมชลประทาน เวนคืนที่ดิน เพื่อขุดลอกคลองตะเข้ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าแม่น้ำยม 2 ผ่านในพื้นที่หมู่ 9 ต.กกแรต และปัจจุบันโครงการได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่ปรากฏว่ามีชาวบ้านบางส่วน ยังไม่ได้รับเงินค่าเวนคืน ทั้งที่ผ่านมานานเกือบ 3 ปี
สำหรับชาวบ้านที่รับเงินไปแล้วบางส่วน ต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากได้รับเงินค่าเวนคืนที่ดิน ต่ำกว่าราคาที่ซื้อมา คือ ไร่ละ 40,000 บาท และแต่ละคนก็ได้รับค่าชดเชยไม่เท่ากัน โดยบางส่วนได้ค่าเวนคืนที่ดิน เพียงไร่ละ 20,000 บาท แต่อีกส่วนที่อยู่ใกล้กัน กลับได้ค่าเวนคืนที่ดิน ถึงไร่ละ 80,000 บาท
นายสาม วันเพ็ง ชาวบ้านหมู่ 9 ต.กกแรต เปิดเผยว่า ระหว่างที่ดำเนินโครงการขุดลอกคลองดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่นำเอกสารมาให้ชาวบ้านเซ็นยินยอม แต่เมื่อสอบถามว่าจะได้ค่าชดเชยเท่าไหร่ เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่ทราบ แต่ชาวบ้านก็เซ็นยินยอมให้ กระทั่งต่อมาเมื่อมีการจ่ายเงินค่าชดเชย จึงรู้ว่าได้ไร่ละ 20,000 บาท
ชาวบ้านจึงแสดงความไม่พอใจ เพราะซื้อที่มาในราคาไร่ละ 40,000 บาท เจ้าหน้าที่จึงบอกว่า เป็นราคาที่ตกลงซื้อขายกันเอง ถ้าต้องการได้มากกว่าไร่ละ 20,000 บาท ก็ต้องจ้างคนไปรังวัด จัดการกันเอง และกว่าจะได้ก็คงอีกนาน ชาวบ้านจึงจำใจรับเงิน เพราะคิดว่าดีกว่าไม่ได้อะไร ถ้ายิ่งวิ่งก็ยิ่งไม่ได้ จึงพากันถอดใจ เพราะไม่อยากเสียเวลา
นายโฉม คงอิ่ม ชาวบ้านในพื้นที่ กล่าวว่า มีชาวบ้านประมาณ 20 ราย ได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ชลประทานบางคน ที่เห็นอกเห็นใจชาวบ้าน แนะนำว่าให้จ้างคนมาทำการรังวัดที่ดินใหม่ อย่ากลัวเสียเวลา หรือกลัวคำขู่ต่างๆ นาๆ ชาวบ้านจึงทำตามก็ปรากฏว่า จากราคาไร่ละ 20,000 บาท พุ่งเป็นไร่ละ 80,000 บาท ทันที ทำให้เกิดความสงสัย ถึงความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมาก
ด้านชาวบ้านบางราย ที่มีญาติทำงานอยู่ในหน่วยงานดังกล่าว บอกว่าค่าชดเชยจะได้รับมากกว่านี้ พร้อมแนะนำขั้นตอนให้ ในที่สุดก็ได้รับค่าชดเชยไร่ละ 80,000 บาท ต่อมามีชาวบ้านที่มีที่ดินติดกัน เข้าไปติดต่อขอรับเงิน แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าได้ไร่ละ 20,000 บาท ชาวบ้านคนดังกล่าวจึงโวยวาย ไม่ยอม เพราะคนมีที่ติดกันได้ไร่ละ 80,000 บาท
ในที่สุดเจ้าหน้าที่ก็ยอมจ่ายให้ แบบง่ายๆ ซ้ำยังแนะนำอีกว่า ถ้าอยากได้เงินค่าชดเชยต้นไม้ ให้เซ็นเอกสาร แต่ต้องแบ่งเงินให้เจ้าหน้าที่รวม 3 คน ซึ่งชาวบ้านก็ตกลง และก็ได้เงินชดเชยค่าต้นไม้ จำนวนหลายหมื่นบาท ทั้งๆ ที่ไม่ได้ปลูกต้นไม้ไว้เลย
ทั้งนี้ จึงอยากให้หน่วยงานที่กำกับดูแลรับผิดชอบ ได้เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง เรื่องการจ่ายเงินค่าเวนคืนที่ดิน และการจ่ายเงินชดเชยค่าต้นไม้ว่าถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่ต่อไป