xs
xsm
sm
md
lg

ครูอีสานผนึกจี้รัฐบาลตั้งกรรมการร่วมแก้หนี้-เสนอให้พักหนี้ครูทั่วประเทศ 5 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

    นายกฤษดา มังคะตา ประธานสภาเครือข่ายครูภาคอีสาน
ศูนย์ข่าวขอนแก่น-สภาเครือข่ายครูอีสาน ร่วมกับองค์กรแนวร่วมธรรมาภิบาล จัดประชุมครูภาคอีสาน และบางส่วนของภาคเหนือ รวม 22 จังหวัด มีครู กว่า 3,000 คน เข้าร่วมประชุม เสนอรัฐเร่งพักหนี้ครู 5 ปี หวังใช้การออมและเศรษฐกิจพอเพียงล้างหนี้ครูทั่วประเทศ

เมื่อเร็วๆนี้ ที่โรงเรียนศรีกระนวนวิทยาคม อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น สภาเครือข่ายครูอีสาน ร่วมกับองค์กรแนวร่วมธรรมาภิบาล จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินความเดือดร้อนภาคประชาชนผู้เดือดร้อน โดยมีตัวแทนครูจากจังหวัดต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือบางส่วน เข้าร่วม 22 จังหวัด

วิทยากรประกอบด้วย ดร.วีรพันธ์ พรหมมนตรี ที่ปรึกษากลุ่มแนวร่วมธรรมาภิบาล นายสตปภัษ ตั้งชู ผู้เชี่ยวชาญพิเศษชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด นายปราโมทย์ นางาม ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ทุ่งกุลาร้องไฮ้ บรรยายให้ความรู้เรื่อง “อนาคตครูกับการออมและกระบวนการเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งได้รับความสนใจจากครูเข้าร่วมรับฟังจำนวนกว่า 3,000 คน รวมทั้งร่วมกันระดมสมองเพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

สำหรับโครงการนี้เกิดขึ้นจากความต้องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเรื่องหนี้สินของครูและสมาชิกเครือข่ายองค์กรแนวร่วมธรรมมาภิบาล ซึ่งมี 7 องค์กร ประกอบด้วย สภาเครือข่ายครูภาคอีสาน, กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำ,กลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย(ผรท.),หมอชุมชน,ทหารผ่านศึก,เครือข่ายเกษตรกรผู้ยากจน,สภาเครือข่ายครูภาคเหนือ ร่วมเป็นเครือข่ายแนวร่วมธรรมมาภิบาล โดยมี นายรักษ์ มณีราช เป็นประธานและนายสุเนตร แก้วคำหาญ เป็นเลขาธิการ ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เน้นหาทางออกปัญหาหนี้สินครูที่ลงทะเบียนไว้จำนวน 2,530 คน มูลหนี้รวม 6 พันล้านบาท เฉลี่ย 2 ล้านบาทเศษต่อคน

นายกฤษดา มังคะตา ประธานสภาเครือข่ายครูภาคอีสาน เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมนี้เป็นการระดมสมองเพื่อหารูปแบบการช่วยเหลือเพื่อนครูทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนไว้ 2 พันห้าร้อยรายเศษ มีหนี้สินล้นพ้นตัวจนหาทางออกไม่เจอ จึงต้องรวมตัวให้เข้มแข็ง รวมกันแก้ปัญหาหนี้สินแบบยั่งยืนไม่ให้ครูกลับมาเป็นหนี้ใหม่อีก พยายามหาทางออกด้วยตนเองก่อน โดยใช้รูปแบบการออม และสร้างแบบแผนชีวิตใหม่

“มีความจำเป็นต้องสร้างการออมแบบยั่งยืนให้ครูที่มีปัญหาหนี้สิน รวมทั้ง ในระหว่างการออมต้องมีหยุดภาระหนี้ทั้งหมด ดังนั้นต้องให้รัฐเข้าช่วยเหลือในเรื่องการลดภาระหนี้และดอกเบี้ย ในระหว่างการปรับแบบแผนชีวิต คาดหมายว่าจะเสนอให้พักหนี้ครูเป็นระยะเวลา 5 ปี รวมทั้งปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ให้เหลือดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี ซึ่งต้องใช้วงเงินกู้พิเศษประมาณ 6,000 ล้านบาทเศษ เพื่อนำมาปรับโครงสร้างหนี้ครูเสียใหม่ ระยะเวลา 25 ปี ซึ่งเราจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ”

นอกจากนี้ นายสุเนตร แก้วคำหาญ เลขาธิการเครือข่ายองค์กรแนวร่วมธรรมมาภิบาล กล่าวว่า ได้มีการพบปะแลกเปลี่ยนระหว่างแกนนำครูที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนกับตัวแทนรัฐบาลแล้วหลายครั้ง จนล่าสุดเห็นร่วมกันว่าจะตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างตัวแทนครูกับผู้แทนรัฐบาลคือกระทรวงการคลัง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

“เราพยายามตอบโจทย์ที่รัฐบาลโยนให้ได้ว่า ถ้าได้รับการช่วยเหลือแล้วครูจะกลับไปเป็นหนี้อีกหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้เรามีคำตอบที่ชัดเจนอยู่แล้ว รวมทั้งมีแนวทางที่เป็นไปได้แน่นอนว่าครูที่เข้าร่วมโครงการจะไม่กลับไปก่อหนี้สินให้ตัวเองเดือดร้อนอีกแล้ว วันนี้เราได้เชิญวิทยากรผู้มีประสบการณ์ในการจัดการการเงิน มาบรรยายให้ความรู้ เพื่อจุดประกายให้เพื่อครูเห็นว่าการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด ต้องสร้างความเข้มแข็งภายในตนเองก่อน แล้วค่อยสร้างภูมิคุ้มกันร่วมกันทั้งสังคม”

ส่วน นางชัยศรี ยอดจัตุรัส ครูจากจังหวัดชัยภูมิกล่าวว่า ตนมีหนี้สิน กว่า 3 ล้านบาท ต้องผ่อนชำระเดือนละ 32,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี ทั้งที่มีเงินเดือน 35,000 บาท ทำให้ชักหน้าไม่ถึงหลังได้รับความเดือดร้อนมาก การที่เดินทางมาวันนี้ไม่ต้องการให้ช่วยปลดหนี้ แต่ต้องการพักชำระหนี้หรือลดอัตราดอกเบี้ยให้เหลือร้อยละ 1 ต่อปี ทราบว่ามีเพื่อนครูอีกหลายคนที่มีชะตากรรมเช่นเดียวกับตนจึงชักชวนกันเข้าร่วมกับสภาเครือข่ายครูภาคอีสาน ซึ่งวันนี้ครูจากจังหวัดชัยภูมิมาด้วยกัน 300 คน เหมารถมากันเองโดยเชื่อมั่นว่าจะสามารถหาทางออกร่วมกันได้แน่นอน

ด้าน ดร.วิญญู สะตะ หัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเดินทางเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมในครั้งนี้ กล่าวว่า การแก้ปัญหาหนี้สินภาคประชาชน หนี้สินของครู หรือแม้แต่หนี้สินของเกษตรกร เป็นเรื่องไม่ง่าย แต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ การสร้างความเข้มแข็ง รวมตัวกันเช่นที่ครูหลายพันคนทำวันนี้ เป็นเรื่องที่ถูกต้อง ถือว่ามาถูกทางแล้ว

ขั้นตอนต่อไปต้องสร้างความเชื่อมั่นว่า ครูสามารถแก้ปัญหาหนี้สินด้วยตนเองได้ ต้องสร้างระบบการออมและระเบียบวินัยทางการเงินที่เข้มแข็ง รวมทั้งสร้างสถาบันการเงินที่เป็นของพวกเขาอย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำแบบสูบเลือด สูบเนื้อกันเอง

“วันนี้ คือจุดเริ่มต้นที่ครูจะปลดพันธนาการตนเองได้ อยากให้ทำสำเร็จ จะได้เป็นต้นแบบให้ครูทั่วประเทศหลุดพ้นปัญหาหนี้สินได้ ความจริงครูคือคนที่เก่งที่สุด ขนาดสอนคนได้ ทำไมเรื่องหนี้สินของตนเองจะทำไม่ได้” ดร.วิญญู กล่าว
นายสุเนตร แก้วคำหาญ เลขาธิการเครือข่ายองค์กรแนวร่วมธรรมมาภิบาล



กำลังโหลดความคิดเห็น