อุบลราชธานี - โรงพยาบาลด้านจิตเวชอีสานใต้ ระดมเจ้าหน้าที่อบรมรับมือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายในภาวะประเทศประสบปัญหาจากสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง พร้อมเปิดพื้นที่รับการรักษาให้มากขึ้น
วันนี้ (18 ธ.ค.) นางอัญชลี ศิลาเกษ รองผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์และการพัฒนา โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า จากปัญหาคนในภาคอีสานได้รับการผลกระทบทางจิตใจจากสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง จึงมีการเตรียมการป้องกัน โดยอบรมให้ความรู้เพิ่มเติมแก่พยาบาลวิชาชีพ ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยให้บริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน เจ้าหน้าที่จิตเวชชุมชน นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ และเจ้าหน้าที่ฟื้นฟูสมรรถภาพที่ให้การดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายด้วยการใช้เครื่องมือคัดกรองการประเมินโรคซึมเศร้า และให้ความช่วยเหลือทางสังคมต่อจิตใจของผู้ป่วย เพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตายจากการป่วยเป็นโรคนี้
สำหรับโรคซึมเศร้าถือเป็นการป่วยทั้งร่างกาย จิตใจ และความคิด ซึ่งผลของโรคกระทบต่อชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานอาหาร การหลับนอน การรับรู้ตัวเอง โดยผู้ป่วยไม่สามารถประสานความคิด ความรู้สึกของตัว เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหา และหากไม่รักษาอาการป่วยอาจจะอยู่นานเป็นเดือน สำหรับโรคซึมเศร้าในประเทศขณะนี้ นับเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญทั้งปัจจุบันและอนาคต
โดยเมื่อวัดจากจำนวนปีที่มีการเจ็บป่วยทางสุขภาพจิต โรคซึมเศร้ามีตัวเลขความสูญเสียในผู้หญิงมากกว่าชาย แม้จะเป็นโรคที่ไม่มีการสูญเสียชีวิตก่อนวัยอันควร แต่ผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคนี้ ต้องทนอยู่กับอาการป่วยเป็นเวลานานกว่าโรคอื่น จึงส่งผลถึงสังคมที่ต้องได้รับผลกระทบจากอาการป่วยของผู้ป่วยด้วยโรคนี้ค่อนข้างมากด้วย
และผลการสำรวจของกรมสุขภาพจิตปี 2546 พบว่า อัตราความชุกของโรคซึมเศร้าในคนไทย คิดเป็นร้อยละ 4.38% โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งให้บริการทางจิตเวช สังกัดกรมสุขภาพจิต จึงต้องมีบทบาทหน้าที่ให้บริการและหาทางยับยั้ง
รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสามารถเข้าถึงการให้บริการรักษาที่รัฐจัดให้มากขึ้น เพื่อลดปริมาณผู้ป่วยไม่ให้มีเพิ่มมากขึ้นอีก