xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่าย ปชช.ตะวันออกโต้ผลสำรวจมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินฯ ไม่น่าเชื่อถือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก
ศูนย์ข่าวศรีราชา - เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เตรียมยื่นขอเอกสารการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนชาวมาบตาพุด ตามที่มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย อ้างถึงว่า ชาวมาบตาพุด ต้องการให้อุตสาหกรรมขยายตัวต่อไป เผยไม่มีการสอบถามชาวบ้านจริง คาดรับเงินจากแหล่งเดียวกับกลุ่มระยองสมานฉันท์

ตามที่มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในมาบตาพุดว่าต้องการให้อุตสาหกรรมขยายตัวต่อไป นักวิจัยเสนอรัฐ 5 ทางออกแก้ปัญหา แถมยังมีข้อเสนอให้มีการทบทวนตัวแทนภาคประชาชนในคณะกรรมการสี่ฝ่าย และยังได้มีข้อเสนอ ให้แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค สอง อีกด้วย

นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เตรียมยื่นขอเอกสารการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนชาวมาบตาพุด ตามที่มูลนิธิฯอ้ างถึง ซึ่ง เป็นผลวิจัยที่ขาดความน่าเชื่อถือ แตกต่างกับผลวิจัยของคณะมนุษยศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยบูรพา และสถาบันวิจัยสังคมของจุฬาฯ ที่ได้เคยสำรวจความคิดเห็นมาก่อนหน้านี้ พบว่า ประชาชนชาวมาบตาพุด และจังหวัดระยอง ไม่มีความพึงพอใจในการให้มีอุตสาหกรรมเพิ่มในพื้นที่อีกต่อไป ตามเอกสารหลักฐานที่เครือข่ายฯ ได้ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดในช่วงพิจารณาก่อนตัดสินคดี

นายสุทธิ กล่าวอีกว่า เท่าที่ ตรวจสอบกับประชาชนในพื้นที่มาบตาพุด ไม่พบว่ามีการลงสำรวจของ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทยแต่อย่างใด ผนวกกับ พบข้อขัดแย้งกันเองในผลสำรวจที่บอกว่า ประชาชนส่วนใหญ่อยากให้มีโรงงานอุตสาหกรรมขยายตัวต่อไป แต่มีข้อเสนอในเชิงขัดกัน ว่า

1. ประเด็นสำคัญอยู่ที่โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องทำตามกฎหมายโดยเคร่งครัด จะละเมิดต่อประชาชนไม่ได้ รวมทั้ง การสร้างจิตสำนึกแก่พนักงานและผู้บริหารของโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมยิ่งขึ้น 2. การควบคุมไม่ให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการที่ทำให้เกิดการปล่อยมลพิษอยู่เนือง ๆ 3. การมีคณะกรรมการตรวจสอบมลพิษ โดยมีผู้แทนของประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมด้วย

4. การตรวจสอบการลักลอบปล่อยมลพิษอย่างสม่ำเสมอ เช่น ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน หรือทุกครั้งที่มีความเสี่ยงต่อการลักลอบปล่อยมลพิษ เช่น เวลาฝนตก เป็นต้น 5. การมีมาตรการลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง 6. การตรวจสอบอุปกรณ์และเครื่องมือในการบำบัดกากอุตสาหกรรมในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งการการพัฒนาระบบขจัดมลพิษให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 8. ในส่วนภาคประชาชน ควรได้รับการแจกที่กรองน้ำ หน้ากาก และได้รับการตรวจสุขภาพโดยไม่คิดมูลค่าทุกปี รวมทั้งได้รับค่ารักษาพยาบาลเป็นพิเศษจากการอยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว

9. การปลูกต้นไม้เพื่อช่วยลดมลพิษ 10. การซ้อมอพยพในกรณีเกิดการรั่วไหลของมลพิษสู่ชุมชน 11. การจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับประชาชน โดยให้ห่างไกลจากมลพิษ โดยวิธีการขายที่ดินให้กับกิจการอุตสาหกรรม 12. การจัดการเวนคืนที่ดินของประชาชนเพื่อการขยายตัวของอุตสาหกรรม 13. ประชาชนต้องมีสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างทันทีและชัดเจน เพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของผู้อยู่อาศัยโดยตรง 14. การจัดชุมนุมประท้วงโรงงานที่ปล่อยมลพิษ เพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไขโดยทันที

นายสุทธิกล่าวว่าข้อเสนอเหล่านี้เป็นข้อเสนอที่เป็นข้อชี้ชัดจากผลสำรวจของมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทยเสียเอง ดังนั้น จึงทำให้เห็นถึง ความเห็นที่ขัดแย้งกันเองของประชาชนในกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน ตามที่มูลนิธิได้นำเสนอมา

ในทางกลับกัน มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ก็ยังมีข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ด้วยการ เปิดเผยรายชื่อและประสบการณ์ทำงานของกรรมการภาคประชาชน โดยมีความเห็นให้มีการเปลี่ยนกรรมการฝ่ายภาคประชาชนออกจากการเป็นกรรมการฝ่ายภาคประชาชนฯ อันเป็นความเห็นเดียวกับกลุ่มระยองสมานฉันท์ ซึ่งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดได้จัดตั้งขึ้นมา เพื่อปกป้องโรงงานของตนเอง และได้เคยมีข้อเสนอนี้ มายังรัฐบาล และประธานกรรมการ 4 ฝ่าย คือนายอานันท์ ปันยารชุน ไปแล้วก่อนหน้านั้น คาดว่ามูลนิธิฯ นี้คงได้รับค่าจ้างในการทำวิจัยฯ จากกลุ่มที่ให้เงินสนับสนุนกลุ่มระยองสมานฉันท์อย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น